“เนื้องอก” กับ “มดลูก” อวัยวะสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

“เนื้องอก” กับ “มดลูก” อวัยวะสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

มดลูก เป็นแหล่งกำเนิดฮอร์โมนไดเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกความเป็นผู้หญิงโดยเฉพาะ และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการตั้งครรภ์ ซึ่งถือว่าสำคัญมากที่สุดสำหรับผู้หญิง ดังนั้น มดลูกจึงเป็นอวัยวะที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีที่สุด ซึ่งผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม

เรื่อง “มดลูก” ที่ผู้หญิงมองข้าม “เนื้องอก” คุกคาม ที่ไม่เคยรู้

พล.ร.ต.นพ. โซ่สกุล บุณยะวิโรจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาโรคภัยทางด้านนรีเวชที่มีในสังคมไทย โดยเฉพาะกับ “เนื้องอกมดลูก” ซึ่งถือได้ว่ามีแนวโน้มที่จะพบได้มากขึ้น

เพราะอะไร ถึงเป็นเนื้องอกในมดลูกได้?

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกได้ แต่พบว่าการเกิดขึ้นของเนื้องอก มีความสัมพันธ์กันกับระดับฮอร์โมนไดเอสโตรเจน ซึ่งมีมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยมีส่วนในการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นจนผิดปกติ

ใครมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกได้บ้าง?

กลุ่มเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการเป็น “เนื้องอกมดลูก” ได้แก่ กลุ่ม “Working Woman” ที่ยังมีประจำเดือนอยู่ และยังไม่เคยมีลูก ในขณะที่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดฮอร์โมน วัยทอง หรือ หมดประจำเดือน จะมีแนวโน้มพบการเป็นเนื้องอกในมดลูกได้น้อยกว่า เนื่องจากระดับของฮอร์โมนไดเอสโตรเจนลดลง จึงทำให้เนื้องอกไม่เจริญเติบโต ฝ่อ และสลายตายไปในที่สุด

รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นเนื้องอกมดลูก?

เนื้องอกมดลูกถือเป็นภัยเงียบที่จ้องคุกคามโดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัว เพราะกว่า 50% ของผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะไม่แสดงอาการผิดปกติ หรือ สัญญาณเตือนใดๆ ให้เห็น ซึ่งกว่าจะมารู้ตัวอีกที ก็เมื่อเข้ารับการตรวจภายใน หรือตรวจสุขภาพอย่างละเอียดประจำปีเท่านั้น การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ จึงสำคัญ เพราะจะมีส่วนช่วยให้ผู้หญิงทุกคนใส่ใจและรู้เท่าทันเนื้องอกมดลูกได้

เนื้องอกมดลูกเปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร?

ถึงแม้เนื้องอกจะไม่ใช่หนึ่งใน 32 อวัยวะของร่างกาย แต่ก็อย่าเพิ่งรีบวิตกไป อันดับแรกเราจำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าเนื้องอกมีอันตรายกับชีวิตเราอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ควรรู้คือ เนื้องอก มี 2 แบบ ได้แก่

  • เนื้องอกธรรมดา
  • เนื้องอกที่เป็นมะเร็ง

 

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นแบบที่หนึ่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากก้อนเนื้องอกธรรมดาจะ มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เพียงแค่ 1% เท่านั้น ทำให้อย่างน้อยเราก็สบายใจได้ว่าก้อนที่มีอยู่จะไม่ทำให้เราต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

 

ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอกมดลูก พบได้ทั้งปัจจัยจากวิถีชีวิต อาหารการกิน สิ่งแวดล้อม มากระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่เจริญเติบโต ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อโดยเข้าไปเติบโตบริเวณผนังหรือโพรงมดลูก กลายเป็น “เนื้องอกมดลูก” ที่อาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่ว หรือมีขนาดใหญ่เท่ากับผลแตงโมก็ได้

 

พล.ร.ต.นพ. โซ่สกุล บุณยะวิโรจ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งและการผ่าตัดเนื้องอกทางนรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ อธิบายว่า ก้อนเนื้องอกในมดลูกของผู้หญิงเรานั้น สามารถพบได้ในทุกที่ของมดลูก และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่พบ ดังนี้

  1. เนื้องอกที่กล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ ทำให้เกิดเนื้องอกขนาดต่างๆ ในลักษณะที่ฝังตัวอยู่ภายในกล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาเนื้องอกทั้งหมด
  2. เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) คือเนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก
  3. เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) คือเนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันเข้ามาในโพรงมดลูก
  4. เนื้องอกมดลูกชนิดมีก้านยื่น โดยตำแหน่งก้อนเนื้องอกซึ่งโตขึ้นอาจดันพ้นออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก หรืออาจดันเข้ามาในโพรงมดลูก ตัวก้อนเนื้องอกจะยึดติดกับมดลูกด้วยก้านเล็กๆ (Intracavitary fibroid)

 

ตำแหน่งเนื้องงอกมดลูก แบ่งคร่าวๆได้ 5 ตำแหน่ง คือ อยู่นอกมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก ภายในโพรงมดลูก และอยู่ที่ปากมดลูก และภายในมดลูก ตำแหน่งที่อันตรายที่สุด!! คือ ข้างในมดลูก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมาก ในทางกลับกันเนื้องอกนอกมดลูกก็อันตรายน้อยสุดเช่นกัน

ความเสี่ยงโรคเนื้องอกมดลูก หนึ่งในนั้นใช่คุณหรือเปล่า

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 20-50 ปี
  • ผู้หญิงที่มี ฮอร์โมนเพศหญิง (ไดเอสโตรเจน) สูงผิดปกติ
  • ผู้หญิงที่มีพันธุกรรมในครอบครัวเป็นมะเร็ง

อาการเตือนสำคัญ ที่ไม่อยากให้ละเลย อาการของเนื้องอกมดลูกสังเกตง่ายๆ ดังนี้

    • ประจำเดือนมามากผิดปกติ

ประจำเดือนมามาก หรือมาตรงทุกรอบ แต่มามากขึ้น กว่าเดิม เช่น มา 3 วัน แต่มากขึ้นเป็น 5 วัน หรือเคยใช้ผ้าอนามัยแค่ 3 ผืน กลายเป็น 5 ผืน หรือไม่เคยมีก้อนเลือดออกมา แต่ระยะหลังดันพบก้อนเลือดออกมามากด้วย หรือปวดประจำเดือนมากขึ้นกว่าปกติ ถึงขนาดต้องกินยา อาการเหล่านี้คือ สัญญาณการเป็นเนื้องอกมดลูก

    • ปัสสาวะถี่ฉี่บ่อย

หรือแม้แต่อาการท่อรั่ว ปวดปัสสาวะเข้าห้องน้ำบ่อยเกินเหตุ ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยที่ต้องระวัง ถ้าเนื้องอกใหญ่ อาจจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือบางคนอาจจะปัสสาวะไม่ออกไปเลย

    • ปวดและเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

เป็นไปได้ว่าก้อนเนื้องอกที่โตยื่นเข้าไปในช่องคลอด หรือเป็นเนื้องอกตรงปากมดลูก

    • ท้องผูก

จากการที่เนื้องอกไปกดทับลำไส้ตรง โดยเนื้องอกอาจโตขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าไปเบียดหรือกดทับอวัยวะบริเวณช่องท้องด้านหลัง

    • ท้องอืดเฟ้อ

ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่จะทำให้อึดอัด แน่นท้อง ท้องบวม หรือท้องโต บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน

    • การมีบุตรยากหรือแท้งบุตรง่าย

เนื้องอกที่โตเข้าใปในโพรงมดลูกอาจเข้าไปอุดตันท่อนำไข่ และขัดขวางการฝังตัวอ่อน

เนื้องอกมดลูก ป้องกันได้ ด้วยตัวคุณเอง

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมที่มีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักc
  • หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติอะไรบ้าง
  • ตรวจร่างกายประจำปี ตรวจภายใน อัลตราซาวด์

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูก ควรต้องเข้าสู่ กระบวนการวินิจฉัย ตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด

ผู้หญิงเป็นเนื้องอกมดลูก ตั้งครรภ์ได้หรือไม่

การตั้งครรภ์ขณะที่มีเนื้องอกมดลูก!!! เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสในการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะทารกอาจอยู่ผิดท่า หรือก้อนเนื้องอกขัดขวางการคลอดทางช่องคลอดได้

 

เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอด พบว่าร้อยละ 25 -35 ของสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกจะพบร่วมกับภาวะมีบุตรยาก ถ้าตั้งครรภ์อาจเกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการฝังของไข่ที่ได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิแล้วกับเยื่อบุมดลูกไม่ดี และก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการเจริญเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์ หรือทำให้เกิดการบีบตัวอย่างผิดปกติของมดลูก นอกจากนี้ทารกในครรภ์อาจอยู่ในตำแหน่งหรือท่าผิดปกติ เนื้องอกมดลูกอาจไปขัดขวางทางคลอด ทำให้คลอดยากและอาจตกเลือดภายหลังการคลอดได้

แบบไหนที่เรียกว่า “ตรวจภายใน”

สาวๆ หลายคนกังวลกับการตรวจภายใน ทั้งที่เป็นการตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก รวมถึงโรคทางนรีเวชอื่นๆ ที่ดีที่สุด ดังนั้น อย่ากลัวจนเกือบสาย

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้หลายวิธี วิธีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ และ การตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอด ซึ่งการทำอัลตราซาวด์นั้น จะช่วยบอกว่า อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือก้อนที่คลำได้จากการตรวจนั้น เกิดจากเนื้องอกมดลูกจริง ไม่ใช่โรคหรือก้อนที่เกิดจากโรคอื่น

เนื้องอกมดลูกรักษาได้อย่างไร?

พล.ร.ต.นพ. โซ่สกุล บุณยะวิโรจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายถึง วิธีการรักษาเนื้องอกมดลูกว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกและความต้องการมีบุตร เป็นสำคัญ ซึ่งทำให้สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

    • การรับประทานยาลดปวด เป็นวิธีที่เหมาะสมในการรักษาเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดเล็ก อาจเทียบเท่าผลมะนาวหรือผลส้ม หรือเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากมีความเสี่ยงต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ยาลดปริมาณประจำเดือน ยาบรรเทาปวด เป็นต้น

การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออกหรือตัดมดลูกออกหมด

    • ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดกรีดแผลที่หน้าท้องยาวประมาณ 6-8 นิ้ว อาจจะตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (Myomectomy) สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีบุตรในอนาคต หรืออาจจะตัดมดลูกออก ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของร่างกาย อาการรุนแรงแค่ไหน เช่น ปวดมากและเป็นผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว
    • ผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็ก โดยการเจาะช่องท้องเป็นแผลเล็กๆ ขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตรจำนวน 3-4 แผล เป็นรูสำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัดและกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscope) ซึ่งตัดเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณที่แสดงผลจอภาพทำให้แพทย์มองเห็นอวัยวะภายในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน และควบคุมการผ่าตัดภายนอกช่องท้องได้ ตำแหน่งแผลที่เจาะช่องท้องเป็นรู ได้แก่ บริเวณ สะดือ สำหรับใส่กล้องเล็กๆ ส่วนตำแหน่ง กลางท้องน้อย เหนือหัวหน่าว และด้านข้างท้องน้อย สำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัด
    • การผ่าตัดทางช่องคลอด วิธีนี้จะไม่มีแผลที่หน้าท้อง เจ็บน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่มีข้อจำกัดที่ทำให้การผ่าตัดวิธีนี้ ทำได้ยากขึ้น คือ เนื้องอกขนาดใหญ่ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน และช่องคลอดแคบ

 

พล. ร.ต. นพ. โซ่สกุล บุณยะวิโรจ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช
ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 1


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...