กลุ่มเสี่ยงมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุพบมากในกลุ่มคนอายุมากกว่า 50-60 ปี แต่มะเร็งรังไข่ทั่วไป สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องประมาณ 20% ความเสี่ยงจะอยู่ที่กลุ่มผู้หญิงที่มีการตกไข่ต่อเนื่องโดยไม่เว้นพักการตกไข่ เช่น การตั้งครรภ์ หรือในกลุ่มคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดซึ่งไปยับยั้งการตกไข่ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีการศึกษาพบว่า เป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิด
อาการแบบไหน เสี่ยงมะเร็งรังไข่ ?
ปกติการปวดประจำเดือนจะมี 2 ลักษณะคือ ปวดวันแรก หรือก่อนมีประจำเดือน 1 วัน ซึ่งหลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นหรือเมื่อไปออกกำลังกายแล้วอาการดีขึ้น หรือปวดเล็กน้อย แต่ยังสามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากมีอาการปวดตั้งแต่ประจำเดือนมาจนกระทั่งหมด หรือปวดรุนแรงจนตัวบิดตัวงอ ต้องรีบไปพบแพทย์ รวมไปถึงคนที่เคยตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
ลักษณะของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
เยื่อบุมดลูกเป็นเยื่อที่อยู่ภายในมดลูก เมื่อใกล้ระยะเวลาไข่สุก เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหนาขึ้นเพื่อรอการปฏิสนธิ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในแต่ละเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกหลุดออกมาพร้อมกับเลือด กลายเป็นประจำเดือน ส่วนโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น เกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อเกิดนอกมดลูกตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณรังไข่ เมื่อมีประจำเดือน เยื่อบุมดลูกจะขยายตัว กรณีที่ไปอยู่ในบริเวณที่มีเส้นประสาทรองรับ เช่น อยู่ด้านหลังมดลูก ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนขึ้น และยังเสี่ยงต่อการเป็นหมันได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าจะไม่สามารถมีบุตรได้ง
ส่วนการเกิดมะเร็งในรังไข่ ซึ่งมีความร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้น มีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการปวดประจำเดือนหลังคลอดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกที่ขึ้นผิดที่ หากอักเสบเรื้อรังแล้วไม่ได้รับการรักษาก็จะเปลี่ยนไปเป็นโรคมะเร็งได้ โดยเซลล์มะเร็งจะทำให้ท้องน้อยขยายใหญ่ขึ้น และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แม้จะไม่ใช่เวลาของการมีประจำเดือนซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายบ่งบอกถึงอาการของโรคมะเร็งรังไข่
ซึ่งลักษณะพิเศษของมะเร็งรังไข่ก็คือ เซลล์มะเร็งจะแพ่ขยายอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากมีอาการแสดงให้เห็นน้อยทำให้ไม่สามารถสังเกตได้ง่าย ฉะนั้นหลายคนที่เป็นโรคนี้ กว่าจะตรวจรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ลามไปถึงปอดแล้ว ส่วนสาเหตุของมะเร็งที่รังไข่นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า การบริโภคไขมันจากสัตว์ในปริมาณมากก็เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง
อาการของมะเร็งรังไข่ในแต่ละระยะ
ระยะที่ 1 ตัวมะเร็งจะอยู่เฉพาะในรังไข่ ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่มักจะตรวจไม่พบในระยะแรก โดยน้อยกว่า 70% ของมะเร็งรังไข่จะตรวจพบเมื่อเชื้อมะเร็งเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว เนื่องจากระยะแรกๆ มักไม่มีอาการใดปรากฏให้เห็น จนกระทั่งระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายเข้าไปในเยื่อบุช่องท้องแล้ว และเข้าไปสร้างสารน้ำต่างๆ ทำให้คนไข้ท้องขยายใหญ่อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำในท้อง ลักษณะคือมีอาการตึงและแข็ง ส่วนระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายอย่างรวดเร็วไปที่ปอด
จำนวนผู้เสียชีวติจากมะเร็งรังไข่นั้น มีถึง 4,000 คนต่อปี และเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 8 เท่า ในรอบ 10 ปี ส่วนใหญ่แล้วโรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะถ้าปล่อยปละละเลย ไม่รีบรักษาอาจจะพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งรังไข่ได้
การรักษามะเร็งรังไข่
เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ยากหากพบในระยะท้ายๆ แต่สามารถป้องกันหรือยับยั้งการเกิดของโรคได้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง หรือคนที่พบว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ
ซึ่งการตรวจมะเร็งรังไข่แพทย์จะตรวจวัดค่าสาร CA125 ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากเยื่อบุอวัยวะในร่างกายเรา เช่น ตับอ่อน รวมถึงที่รังไข่ด้วย โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 0-35 ยูนิตต่อมิลลิลิตร แต่อาจมีค่าปกติที่สูงกว่านี้ แต่เป็นค่าปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็งก็ได้ ถ้าคนที่เป็นมะเร็งรังไข่มาตรวจ ค่าจะสูงมากกว่า 35 แต่กรณีเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะที่ 1 บางทีอาจจะไม่แสดงอาการ ซึ่งหมอจะตรวจสาร CA125 เพื่อช่วยวางแผนในการผ่าตัดเผื่อในกรณีสงสัยเป็นมะเร็งไว้ด้วย เพราะลักษณะการผ่าตัดจะไม่เหมือนกัน
ลดเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ ทำได้ด้วยวิธีนี้
หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ เพราะการรับประทานไขมันจากเนื้อสัตว์ในปริมาณมากเป็นปัจจัยร่วมอย่างหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่
โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ตระหนักถึงคุณภาพในการรักษาคนไข้มะเร็งทุกชนิด คนไข้จะถูกส่งไปตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางนรีเวชด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ หลังจากที่ได้ทำการวินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่าคนไข้เป็นมะเร็งรังไช่ แพทย์เจ้าของไข้จะนำผลการการวินิจฉัยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ MDT Cancer ซึ่งเป็นทีมบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบนรีเวช ด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา ด้านพยาธิวิทยา และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งด้วยยา ร่วมกันวางแผนการรักษาสำหรับคนไข้แบบเฉพาะบุคคล ซึ่งส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อการรักษาคนไข้ และทำให้คนไข้ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด