เดินกะเผลก ปวดขาหนีบ ปวดร้าวลงขา ลุกนั่งยาก ขึ้นลงบันไดลำบาก

พญาไท 2

1 นาที

พ. 27/05/2020

แชร์


Loading...
เดินกะเผลก ปวดขาหนีบ ปวดร้าวลงขา ลุกนั่งยาก ขึ้นลงบันไดลำบาก

5 อาการที่บอกว่าข้อสะโพกคุณมีปัญหา

การสังเกตอาการเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการปวดบริเวณข้อสะโพกด้านหลังจะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการปวดหลัง หากแยกอาการไม่ออก อาจทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกทาง เรามักจะพบปัญหาข้อสะโพกเสื่อมในกลุ่มคนวัยทำงานจากสาเหตุข้อสะโพกขาดเลือด และปัญหาข้อสะโพกหักในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความแข็งแรงของกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ซึ่งหากมี 5 อาการนี้ คือ เดินกะเผลก ปวดขาหนีบ ปวดร้าวลงขา ลุกนั่งยาก ขึ้นลงบันไดลำบาก นั่นอาจหมายถึงคุณกำลังมีปัญหาเรื่องข้อสะโพกอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์

รับประทานยาพร่ำเพรื่อ เร่งข้อสะโพกเสื่อม

ข้อสะโพกเสื่อมมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด ทำให้เบ้ายุบลงไป ซึ่งพบมากในคนเอเชีย มาจากการใช้ยาโดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพร ยาบ้าน ที่มักมีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์เป็นประจำ ก็นับเป็นสาเหตุสำคัญที่เร่งให้ข้อสะโพกเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อสะโพกเสื่อม ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ ก่อให้เกิดอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ที่เกิดได้กับข้อต่างๆ ทั่วร่างกาย และไปทำลายผิวข้อ รวมถึงข้อสะโพก ข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก เมื่อมีอายุมากขึ้นก็ทำให้ความเสื่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ข้อสะโพกหักเสี่ยงถึงชีวิต

อาการข้อสะโพกหักจากอุบัติเหตุหกล้ม มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน เมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มจะเกิดกระดูกสะโพกแตก ร้าว หรือหักได้ง่าย เพราะในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนจะมีความแข็งแรงของกระดูก และความหนาแน่นของกระดูกน้อย หรือมีภาวะกระดูกพรุนนั่นเอง คนไข้มีอาการปวดมากตรงสะโพกบริเวณด้านหลังหรือตรงขาหนีบ แม้จะอยู่เฉยๆ ไม่สามารถยืนหรือลงน้ำหนักที่ขาข้างนั้นได้ บริเวณสะโพกจะรู้สึกขัดๆ มีรอยฟกช้ำ บวม บริเวณข้อสะโพกที่หกล้ม และอาจหัก จะสั้น และไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ขาจะหมุนเข้าหรือออก ปวดทรมานเมื่อขยับขาไม่ว่าจะทิศทางไหนก็ตาม หากเป็นดังนี้ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาจมีรอยร้าวที่กระดูกที่ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก และไม่สามารถมองเห็นจากการเอกซเรย์ในครั้งแรกได้ หากไม่เข้ามาพบแพทย์และทนฝืนเดินต่อไป อาจเกิดรอยร้าวมากขึ้น

 

รีบรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม ลดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการเสียชีวิต

หากคุณมีอาการข้อสะโพกข้างต้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ในคนไข้บางรายกลัวและกังวลต่อจะมาพบแพทย์เพื่อรักษา ทนปวดและซื้อยารับประทานเอง แม้จะช่วยระงับอาการปวดได้ แต่เป็นเพียงการประวิงเวลาในการผ่าตัดออกไป เพราะเมื่อคนไข้มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมจะปวดจนทนไม่ไหว ยาที่เคยใช้ได้ผลจะช่วยไม่ได้อีกต่อไป คนไข้จะเดินลำบาก ตัวเอียง เดินได้น้อย อาจเกิดภาวะนอนติดเตียง หรือนอนนิ่งๆ เป็นระยะเวลานาน ไม่ขยับร่างกาย นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น แผลกดทับและติดเชื้อ กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อเนื่องจากลุกไม่ได้ ต้องใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้ รับประทานอาหารลำบากเสี่ยงต่อการสำลัก ปอดไม่ขยายตัวเพิ่มโอกาสปอดบวม ปอดติดเชื้อ ข้อติดข้อยึด อาการจะกำเริบในกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หากปล่อยทิ้งไว้ อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ การรักษาทำได้ยากมากขึ้น การฟื้นตัวของคนไข้เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติเป็นไปได้ยากมากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดอาการข้อสะโพกหัก ควรรีบมาพบแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อน และอัตราเสียชีวิต

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...