ผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นภัยที่ซ่อนเร้น

ผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นภัยที่ซ่อนเร้น

บ่อยครั้งที่เราไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่าตนเองมีความผิดปกติที่ปอด เช่น พบจุดที่ปอดบนฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งเราไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นเซลล์มะเร็งที่ปอดก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วหากพบก้อนเนื้อมีขนาดต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร ความเสี่ยงที่จะเป็นเซลล์มะเร็งค่อนข้างน้อย แต่หากมีขนาดใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตรขึ้นไป โอกาสที่ก้อนเนื้อนั้นจะเป็นเซลล์มะเร็งก็เป็นไปได้มาก

 

ทั้งนี้หลังจากตรวจพบว่าปอดมีความผิดปกติ ควรที่จะมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อทำการติดตามการเติบโตของก้อนเนื้ออย่างใกล้ชิด หากภายใน 3-6 เดือนก้อนเนื้อนั้นมีอัตราขยายตัวใหญ่ขึ้นเร็วผิดปกติ ควรจะได้รับการรักษาโดยทันที สำหรับมะเร็งที่ตรวจพบเจอตั้งแต่ในระยะแรกๆ กล่าวคือ ระยะที่ยังเป็นเพียงก้อนเนื้อเล็กๆ นั้น มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

ในอดีตการตรวจหามะเร็งปอด เราจะใช้เครื่องเอกซเรย์ ซึ่งได้ผลการตรวจค่อนข้างช้าและมีความละเอียดน้อย เห็นได้ไม่ชัดเจน ในบางครั้งจุดเล็กๆ ในปอดก็อาจถูกมองข้ามไปได้ กว่าที่ผลตรวจจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจริงๆ ก้อนเนื้อก็มีขนาดใหญ่ขึ้นถึงหนึ่งเซ็นติเมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งหากถึงจุดๆ นั้นส่วนใหญ่มะเร็งมักจะเกินระยะแรกไปแล้ว

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสอบมะเร็งปอดแบบง่ายหรือด้วยตนเองดังเช่นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนบริเวณทรวงอกจะช่วยให้ค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่อาจค้นไม่พบด้วยการเอกซเรย์ปอดธรรมดา ดังนั้นจึงได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเครื่องซีทีสแกน ซึ่งแสดงผลการตรวจเป็นภาพสามมิติ ส่งผลให้สามารถตรวจหาความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว โดยกระบวนการทำงานของเครื่องซีทีสแกนจะทำการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์หลายๆ ภาพมาประกอบกัน และสร้างเป็นภาพสามมิติในแนวตัดขวางของร่างกาย จึงทำให้สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในปอดได้อย่างละเอียด และช่วยในการระบุตำแหน่งของมะเร็งได้อย่างแม่นยำและชัดเจน

 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด ?

บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ได้แก่

  • บุคคลที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติสูบบุหรี่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
  • บุคคลที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องรับมลภาวะและสารพิษต่างๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น สารจำพวกใยหิน (Asbestos) ก๊าซกัมมันตรังสี (Radon) หรือควันพิษจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

มะเร็งปอดรักษาหายหรือไม่ ?

“มะเร็ง” เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เซลล์เดียวแล้วแบ่งออกเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด และเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเรื่อยๆ ดังนั้นหากถึงจุดที่สามารถมองเห็นในฟิล์มเอกซเรย์ได้อย่างชัดเจนแล้วนั้น (ประมาณ 1 เซ็นติเมตร) ก็แสดงว่าเซลล์มะเร็งนั้นมีชีวิตมาแล้ว 75% ของชีวิตที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายบ้างแล้ว ฉะนั้นเราจะมีเวลาเหลืออีก 25% ของชีวิตมะเร็งที่จะทำการรักษาผู้ป่วย โอกาสที่จะรักษาให้หายก็มีน้อยลงตามไปด้วย หากเราสามารถตรวจพบก้อนมะเร็งตอนขนาดยังเล็กอยู่ โอกาสที่จะมีเวลารักษาก็มากขึ้น และสามารถรักษาให้หายขาดได้

 

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว โอกาสในการกลับมาป่วยเป็นมะเร็งอีกครั้งหนึ่งจะมีมากกว่าคนที่ยังไม่เคยป่วยเป็นมะเร็ง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้บกพร่องจากการป่วยเป็นมะเร็งไปแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้นจึงควรติดตามผลการรักษาและตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุก ๆ หนึ่งหรือสองปี


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...