ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza)
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza) เป็น RNA ไวรัส เกิดจากการติดเชื้อ Influenza Virus เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางพบได้ตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถแบ่งประเภทของสายพันธุ์ที่พบในมนุษย์ได้คือ สายพันธุ์ A, B และ C
ประเภทของไข้หวัดใหญ่
ไวรัสชนิด A มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์พาหะมาสู่คนและจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่นๆ ทางการไอ จาม และอากาศหายใจที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ จึงสามารถแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง หรือระบาดทั่วไปทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วโครงสร้างของไวรัสชนิด A แตกต่างจากไวรัสชนิดอื่น คือ มีไกลโคโปรตีน 2 แบบ ได้แก่ Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) โดย HA มีหน้าที่จับกับตัวรับสารของเซลล์แล้วบุกรุกเซลล์ สร้างอนุภาคไวรัสขึ้นมาใหม่เมื่อติดเชื้อแล้ว NA จะทำหน้าที่ส่งไวรัสที่สร้างขึ้นใหม่แพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่น ๆโปรตีน HA มีทั้งสิ้น 15 ชนิดย่อย และ NA มี 9 ชนิดย่อย สายพันธุ์ของไวรัสจึงถูกตั้งชื่อตามการจับตัวของโปรตีนอย่างสายพันธุ์ที่มีการระบาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น H1N1 (ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก) ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวย่อ H ควบคู่กับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายตัวย่อแต่ละตัวตามชนิดของโปรตีน เช่น
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (สายพันธุ์เก่า) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 20-40 ล้านราย และเนื่องจากมีต้นตอจากประเทศสเปน จึงมีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” (Spanish) และกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งในปี พ.ศ.2520 ที่มีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย” เนื่องจากมีต้นตอมาจากประเทศรัสเซีย
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2009) พบการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2552 โดยเป็นสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ ประกอบไปด้วยสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมู สัตว์ปีก และคน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า และมีต้นตอมาจากประเทศเม็กซิโก (เชื้อสามารถแพร่กระจายตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ แพร่ได้มากที่สุดใน 3 วันแรกของการเจ็บป่วย และอาจแพร่ได้จนถึงวันที่ 7 ของการเจ็บป่วย)
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเอเชีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านราย ซึ่งพบในปี พ.ศ.2500-2501
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกง ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 7 แสนราย ซึ่งพบในปี พ.ศ.2511-2512
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมาที่เคยเป็นข่าวดังก็เนื่องมาจากไวรัสสายพันธุ์นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการติดต่อมาสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ และมีความแรงสูง ทำให้เสียชีวิตได้ หรือที่เรียกว่า ไข้หวัดนก (Avian influenza) แต่ยังโชคดีตรงที่ว่าการติดต่อมาสู่คนนั้นไม่ง่ายนัก ต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก อีกทั้งการติดต่อจากคนสู่คนก็เกิดขึ้นได้น้อย จึงสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อชนิดนี้ได้
ไวรัสชนิด B มักแพร่ระบาดตามฤดูกาลที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อ อย่างฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu) อาจแพร่ระบาดได้ในระดับภูมิภาค
ไวรัสชนิด C เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง มีอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
ไข้หวัดใหญ่ในคน : สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มักเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เนื่องจากเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา จึงทำให้คนที่เคยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้วสามารถกลับมาป่วยซ้ำได้อีกถ้าเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว
- ไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ อย่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเชื้อไวรัส H1N1 ไปจากเดิมมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการระบาดหรือติดเชื้อเป็นวงกว้าง
ไข้หวัด (Cold) เป็นการติดเชื้อของจมูก และคอ บางครั้งเรียกว่า upper respiratory tract infection URI เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งรวมเรียกว่า Coryza viruses ประกอบด้วย Rhino-viruses เป็นสำคัญ เชื้อชนิดอื่นๆ มี Adenoviruses, Respiratory syncytial virus เมื่อเชื้อเข้าสู่จมูกและคอ จะทำให้เยื่อจมูกบวมและแดง มีการหลั่งของเมือกออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกไหล ไข้ไม่สูงมาก แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุดโดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก คนสูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ต่างกันอย่างไร
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีอาการคล้ายกันมาก แต่อาการของไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อาการ |
ไข้หวัด |
ไข้หวัดใหญ่ |
ไข้ |
ไม่สูงในผู้ใหญ่ เด็กอาจจะมีไข้ |
ไข้สูง 38-40 องศา เป็นเวลา 3-4 วัน |
ปวดศีรษะ |
พบน้อย |
ปวดศีรษะมาก |
ปวดตามตัว |
เล็กน้อย |
พบบ่อยและปวดมาก |
อ่อนแรง |
เล็กน้อย |
พบได้นาน 2-3 สัปดาห์ |
อ่อนเพลีย |
ไม่พบ |
พบมาก |
คัดจมูก |
พบบ่อย |
พบเป็นบางครั้ง |
จาม |
พบบ่อย |
พบเป็นบางครั้ง |
เจ็บคอ |
พบบ่อย |
พบเป็นบางครั้ง |
ไอ แน่นหน้าอก |
ไอไม่มาก ไอแห้งๆ |
พบบ่อย บางครั้งเป็นรุนแรง |
โรคแทรกซ้อน |
ไซนัสอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ |
หลอดลมอักเสบ และปอดบวม |
การป้องกัน |
ไม่มี |
ฉีดวัคซีน; Amantadine or Rimantadine (antiviral drugs) |
การรักษา |
รักษาตามอาการ |
Amantadine or Rimantadine ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ |
การติดต่อของโรคไข้หวัด
เชื้อติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยแพร่ติดต่อไปยังคนอื่นๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไปหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
อาการของโรคไข้หวัด
ระยะฟักตัวประมาณ 1-4 วัน เฉลี่ย 2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา เจ็บคอคอแดง มีน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง อาการไข้ คลื่นไส้อาเจียนจะหายใน 2 วัน แต่ อาการน้ำมูกไหลคัดจมูกอาจจะอยู่ได้ 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงมักจะเกิดในผู้สูงอายุหรือ มีโรคประจำตัว อาจจะพบว่ามีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ อาจจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ ซึมลง หมดสติ ระบบหายใจอาจจะมีอาการ ของโรคปอดบวม จะหอบหายใจเหนื่อยจนถึงหายใจวาย โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่จะหายใน
ไม่กี่วัน แต่ก็มีบางรายซึ่งอาจจะมีอาการปวดข้อและไอได้ถึง 2 สัปดาห์
ระยะติดต่อของโรคไข้หวัด
ระยะติดต่อหมายถึงระยะเวลาที่เชื้อสามารถติดต่อไปยังผู้อื่น ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ ห้าวันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้ นาน 10 วัน
การวินิจฉัยของโรคไข้หวัด
การวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่จะอาศัยระบาดวิทยาโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดและอาการของผู้ป่วย การส่งตรวจควรเก็บตัวอย่างให้เร็วที่สุด ภายใน 3 วันหลังจากที่มีอาการ โดยการทำ nasal swab หรือ nasopharyngeal aspirate หรือ throat swab
การรักษาของโรคไข้หวัด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะหายเอง หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้าน วิธีการดูแลมีดังนี้
- ให้นอนพักไม่ควรจะออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำเกลือแร่หรือดื่มน้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มน้ำเปล่ามากเกินไปเพราะอาจจะขาดเกลือแร่
- รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุมน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลงให้รับประทาน paracetamol ไม่แนะนำให้ทาน aspirin ในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะอาจจะทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Reye syndrome ถ้าไอมากให้รับประทานยาแก้ไอ แต่ในเด็กเล็กไม่ควรซื้อยารับประทานเอง สำหรับผู้ที่เจ็บคอ อาจจะใช้น้ำ 1 แก้วผสมเกลือ 1 ช้อนกรวกคอ อย่าสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจจะทำให้เชื้อลุกลาม
- ในช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สาธารณะ ลูกบิด ประตู และสถานที่สาธารณะ
- เวลาไอหรือจาม ต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก
ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์เมื่อไร
สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้พบแพทย์
- ไข้สูงและเป็นมานาน
- หายใจลำบาก หรือหายใจหอบ
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- หน้ามืดเป็นลม
- อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ควรจะพบแพทย์เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด
- คนท้อง
- คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ป่วยโรคเอดส์
- ผู้ที่พักในสถานเลี้ยงคนชรา
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการเหล่านี้ ควรจะรักษาในโรงพยาบาล
- มีอาการขาดน้ำไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ
- เสมหะมีเลือดปน
- หายใจลำบาก หายใจหอบ
- ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วงเขียว
- ไข้สูงมากเพ้อ
- มีอาการไข้และไอหลังจากไข้หวัดหายแล้ว
บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- .ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน
- บุคลากรที่ต้องสัมผัสกับบุคคลข้างต้น เช่น ผู้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ ผู้เลี้ยงดูเด็ก บุคลากรทางการแพทย์ ครูที่มีหน้าที่สอนนักเรียน
เนื่องจากเชื้อไข้หวัดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในแต่ละปี โดยไม่สามารถมีการป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องฉีดยาทุกปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้
การรักษาในโรงพยาบาล
แพทย์จะให้น้ำเกลือสำหรับผู้ที่ดื่มน้ำไม่พอ ผู้ป่วยเหล่านี้ควรจะได้รับยา Amantadine หรือ rimantidine เพื่อให้หายเร็วและลดความรุนแรงของโรค ควรจะให้ใน 48 ชั่วโมง หลังจากมีไข้ และให้ต่อ 5-7 วัน ยานี่ไม่ได้ลดโรคแทรกซ้อน ให้ยาลดน้ำมูกหากมีน้ำมูก ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายใน 2-3 วันไข้จะหายใน 7 วันอาการอ่อนเพลียอาจจะอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์
การป้องกัน
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินเพียงพอ
- ล้างมือบ่อยๆ
- อย่าเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา
- อย่าใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ให้พักที่บ้านเมื่อเวลาป่วย
- เวลาไอจามใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
- หากอยู่ในภาวะเสี่ยงสามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีน : ปัจจุบันครอบคลุมได้ 4 สายพันธุ์
การฉีดวัคซีน
การป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน ซึ่งทำจากเชื้อที่ตายแล้วโดยฉีดทีแขนปีละครั้ง หลังฉีด 2 สัปดาห์ภูมิจึงขึ้นสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ แต่การฉีดจะต้องเลือกผู้ป่วยดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, โรคไตวาย, เบาหวาน, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาบำบัด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- หญิงตั้งครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี