ถ้าพูดถึงวัคซีน HPV หลายคนคงจะนึกถึง “โรคมะเร็งปากมดลูก” โรคของผู้หญิงที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยถึงวันละ 14 คนเลยที ซึ่งวัคซีน HPV นอกจากจะเป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอีกด้วย
วัคซีน HPV ป้องกันได้มากขนาดไหน?
วัคซีน HPV มี 2 ชนิดคือ วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) และ 2 สายพันธุ์ (16, 18) ที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่น่าสนใจคือ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US. FDA) ให้การรับรองแล้วว่า…
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักถ้าหากได้รับวัคซีนก่อนมีการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังป้องกันมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และโรคหูดหงอนไก่ ที่อวัยวะเพศ (ชนิด 4 สายพันธุ์) ได้ และยังได้รับการยอมรับและผ่านการอนุมัติการใช้แล้วกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ใครบ้างควรฉีดวัคซีน HPV
เนื่องจากเชื้อ HPV นั้นเป็นต้นเหตุของโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย กลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนคือ
เด็กผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-10 ปีขึ้นไป สามารถฉีดจำนวน 2 เข็มก็เพียงพอ เนื่องจากร่างกายจะสามารถตอบสนองและสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง
ส่วนคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วและยังไม่มีการติดเชื้อเอชพีวีก็จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน โดยต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 3 เข็มภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยตัวยาจะมีฤทธิ์ป้องกันไวรัสหลังฉีดเข็มที่ 3 ครบ 1 เดือนไปแล้ว ทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
ทั้งนี้ ไม่แนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่แพ้วัคซีนและส่วนประกอบในวัคซีน
ฉีดวัคซีนร่วมกับตรวจคัดกรอง…ป้องกันได้ดีที่สุด
เพื่อช่วยให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรทำร่วมกับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ มี 3 วิธี ได้แก่
- วิธีแปปเสมียร์ (Pap smear)
- วิธีตินเพร็พ (ThinPrep)
- วิธีตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) ซึ่งมีความไวในการตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นได้
โดยควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ และแม้จะมีอายุมากแล้วหรือไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือไม่มีประจำเดือนและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังต้องตรวจคัดกรองตามระยะเวลาที่เหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์จะดีที่สุด