ป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับเด็กด้วยวัคซีน HPV

พญาไท 3

1 นาที

พ. 16/09/2020

แชร์


Loading...
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกสำหรับเด็กด้วยวัคซีน HPV

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคมะเร็งในสตรี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกก็คือการติดเชื้อไวรัส HPV ทั้งนี้ เราสามารถ ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง

 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) ตั้งแต่เด็ก ?

เพราะโดยหลักการนั้น หากฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีก็จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ แพทย์แนะนำให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนชนิดนี้นอกจากจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้อีกด้วย ดังนั้นจึงแนะนำให้เด็กผู้ชายได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน แต่จะต้องเป็นวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์

 

เชื้อไวรัส HPV คืออะไร ? 

ชื่อเต็มของเชื้อไวรัส HPV คือ Human Papilloma Virus โดยไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศอันแตกต่างกันไป โดยก่อโรคได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย การติดต่อมักเกิดได้จากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีแผล และการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว เชื้อไวรัส HPV ยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น

  • ในเด็กผู้หญิง อาจก่อโรค มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ
  • ในเด็กผู้ชาย อาจก่อโรค มะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ

 

หูดหงอนไก่ คืออะไร ?

หูดหงอนไก่จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อที่ยื่นมาจากอวัยวะเพศ เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ทำให้มีอาการเจ็บและดูไม่สวยงาม เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้

 

เชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ต่างๆ 

เชื้อไวรัส HPV ที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักมีอยู่ราว 40 สายพันธุ์ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักหายได้เอง มีส่วนน้อยที่หากติดเชื้อแล้ว เชื้อจะอยู่ในร่างกายไปอีกนานเพราะกำจัดออกไม่หมด ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง

 

โดยเชื้อไวรัส HPV จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มแรก สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ที่พบบ่อยคือสายพันธุ์ 16,18,31,33,45,52 และ 58 โดยสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 พบได้ประมาณ 70% และกลุ่มที่สอง สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ คือสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 พบได้ประมาณ 90%

 

มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ด้วยวัคซีน และการตรวจคัดกรอง

  1. ตรวจคัดกรอง เช่น การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกก่อนโรคลุกลาม เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างทันท่วงที
  2. ฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันต้นเหตุของมะเร็ง คือ เชื้อไวรัส HPV 
    • วัคซีน ป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 และป้องกันหูดที่อวัยวะเพศที่เกิดจากสายพันธุ์ 6 และ 11

 

คำแนะนำในการฉีดวัคซีน HPV จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

  • แนะนำให้ฉีดในเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป โดยในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีด 2 เข็ม ในเดือนที่ 0 กับเดือนที่ 6-12
  • สำหรับผู้หญิงอายุ 15-26 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และเดือนที่ 6
  • การฉีดในเด็กผู้ชาย พิจารณาให้ฉีดเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ แนะนำในช่วงอายุ 11-12 ปี หรือตั้งแต่ 9-26 ปี

 

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของวัคซีน HPV

วัคซีน HPV ทั้งสองชนิดในปัจจุบัน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยสูง โดยอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้รับวัคซีนจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีดยาหรือต้นแขน มีไข้ต่ำๆ บางครั้งอาจมีอาการเวียนศีรษะหรือเป็นลมเกิดขึ้นหลังฉีดยาได้ การให้ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนนั่งพักหลังฉีด 15 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นลมได้มาก


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...