มีเลือดออกจากช่องคลอดขณะตั้งครรภ์
สัญญาณอันตรายที่ 1 คือ การมีเลือดออกจากช่องคลอด ถ้าเกิดขึ้นในช่วงแรกให้ระวังเรื่องของการแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุ (การผสมของไข่กับสเปิร์มที่มีความผิดปกติ) โดยมีลักษณะเหมือนสาคู ซึ่งเมื่อภาวะเหล่านี้เกิดการขยายตัวจะโตเร็วมาก ส่งผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกจากช่องคลอดได้ บางกรณีถึงขนาดออกมาเป็นสาคู สิ่งเหล่านี้คือภาวะแทรกซ้อนในช่วงไตรมาสแรกของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสหลังจะให้คุณแม่ตั้งครรภ์ระวังเรื่องของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด เรื่องของรกรอบตัวทารก รกเกาะต่ำ ซึ่งคือสัญญาณแรกของอาการเลือดออกจากช่องคลอด
ปวดท้องน้อย
สัญญาณที่ 2 คือ ปวดท้องน้อย โดยจะแบ่งเป็นสองส่วน คือในช่วงแรกกับช่วงหลัง ช่วงแรกของอาการปวดท้องน้อยจะเกิดขึ้นจากการที่มดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์ขยายตัว มีอาการตึงๆ ปวดๆ มีอาการปวดเป็นบางครั้งแต่ไม่ตลอด แต่ หากสมมุติว่าปวดด้านใดด้านหนึ่ง ปวดตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ระวังทั้งช่วงแรกและช่วงหลังของการตั้งครรภ์ โดยให้ระวังว่าอาจจะมีก้อนซีสต์ที่รังไข่ แล้วเกิดลักษณะบิดขั้ว หรือเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรือท้องนอกมดลูก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง
ส่วนอาการปวดท้องในช่วงหลัง คือ การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด และที่พบได้บ่อย คืออาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต กรวยไตอักเสบ ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์ปวดท้องน้อย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรีบหาสาเหตุว่าเกิดจากมดลูกแข็งตัวหรือเกิดจากการติดเชื้อ
แพ้ท้องรุนแรง
สัญญาณที่ 3 คือ แพ้ท้องรุนแรง ซึ่งการตั้งครรภ์โดยทั่วไปจะมีอาการแพ้ท้องแค่ในช่วงแรก แต่หากมีอาการแพ้ท้องมาก กลืนน้ำลายยังทำไม่ได้ แพ้มากจนแทบคลาน ก็ต้องระวังว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า ทำไมฮอร์โมนถึงได้สูงผิดปกติ เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์มีลักษณะท้องแฝดหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นฮอร์โมนจะสูงมาก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกก็เช่นกัน จะมีลักษณะฮอร์โมนที่สูงมาก ซึ่งทำให้แพ้ท้องรุนแรงได้ หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่เด็กมีความผิดปกติ ก็จะทำให้คุณแม่แพ้ท้องรุนแรงได้ แต่ช่วงหลังจะไม่ค่อยแพ้ และมีคุณแม่บางท่านที่แพ้ท้องตลอด และพบเพียงประมาณ 5-10% ที่แพ้ท้องจนกระทั่งถึงช่วงคลอด
เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
สัญญาณที่ 4 คือ อาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ซึ่งโดยปกติเราจะตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ แต่จะถือว่าครบกำหนดตั้งแต่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป เมื่อใดก็ตามที่คุณแม่ตั้งครรภ์เจ็บท้องก่อน 37 สัปดาห์ ในทางการแพทย์ถือว่าคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจจะทำให้เด็กที่คลอดออกมาอยู่ในภาวะไม่สมบูรณ์ อาจจะต้องอยู่ในตู้อบ หรือต้องได้รับการดูแลนานขึ้นในโรงพยาบาล ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังร่างกายให้ดีโดยเฉพาะใน 37 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
อาการที่ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
- ปวดท้องเป็นพักๆ พร้อมกับเวลาที่มดลูกหดรัดตัว
- ปวดหลังร้าวลงไปถึงบริเวณก้นกบ ร่วมกับมีปวดท้องเป็นพักๆ
- ปวดท้องในอุ้งเชิงกราน อาจร้าวลงไปที่ต้นขา
- มีน้ำไหลออกทางช่องคลอด
- มีมูกเลือด หรือเลือดออกทางช่องคลอด
อาการครรภ์เป็นพิษ
สัญญาณที่ 5 คือ อาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะมี 3 อาการหลักคือ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ โดยอาการปวดศีรษะจะมีอาการปวดบริเวณขมับ หน้าผาก และด้านท้ายทอย ในส่วนที่สองคือ อาการตาพร่า มีลักษณะเห็นแสงแวบแวบและตาพร่า ในส่วนที่สามคือ อาการจุกแน่นลิ้นปี่ สามอาการนี้หากเกิดขึ้นแล้ว เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะรีบวัดความดันว่ามีความดันสูง และตรวจว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือไม่ โดยหากเกิด 2 อาการดังกล่าว แสดงว่าเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งต้องรีบให้คลอดเพราะถือเป็นภาวะฉุกเฉิน หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ อาจทำให้คุณแม่เส้นเลือดแตกในสมอง อาจเกิดการเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และคุณลูก นับเป็นภาวะฉุกเฉิน และเรื่องจำเป็น โดยถือว่าสำคัญมาก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวัง และคอยสังเกตภาวะครรภ์เป็นพิษให้ดี
ปกติแล้ว ทุกครั้งเวลามาฝากครรภ์กับคุณหมอก็จะต้องตรวจวัดความดัน เพราะโรงพยาบาลจะคัดกรองเรื่องของครรภ์เป็นพิษ และจะมีการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่าโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือไม่ ซึ่งจะเป็นอาการบ่งบอกครรภ์เป็นพิษ โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ คือ ภาวะความดันสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ที่จะเกิดรวมกับสามอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ โดยจะเป็นอาการใดอาการหนึ่งในสามอาการก็ได้ แต่สองอาการแรกต้องปรากฏ เพราะฉะนั้น เรื่องอาการครรภ์เป็นพิษ ป็นเรื่องสำคัญ ต้องรีบคลอดเพื่อไม่ให้เกิดการเสียชีวิต โดยอาการครรภ์เป็นพิษจะเกิดขึ้นได้หลังจาก 20-28 สัปดาห์ขึ้นไป
ภาวะน้ำเดิน
สัญญาณที่ 6 คือ ภาวะน้ำเดิน ซึ่งโดยปกติในมดลูกจะมีถุงน้ำคร่ำ มีน้ำ รก และตัวเด็ก เมื่อมีอาการน้ำใสๆ ไหลออกมา แล้วไม่ใช่ปัสสาวะ นั่นคือน้ำคร่ำ ปริมาณอาจปรากฏน้อยถึงมากได้แล้วแต่กรณีของการรั่ว โดยปกติจะมีน้ำเดินในช่วงกระบวนการคลอด แต่ถ้าปรากฏว่ามีน้ำเดินออกมา หรือมีสายสะดือย้อยออกมา ถ้าเกิดภาวะหูรูดเปิด น้ำเดินออกมาได้ หากสายสะดือที่อยู่ข้างในย้อยออกมา แล้วหูรูดรัดก็จะทำให้เกิดปัญหาด้านออกซิเจนและสารอาหาร นั่นคือปัญหาของอาการน้ำเดิน ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องตระหนักว่าหากน้ำเดินออกมา ก็จะส่งผลต่อเชื้อโรคที่จะเข้าช่องคลอด เพราะฉะนั้นอาจเกิดอาการติดเชื้อในมดลูกได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่เกิดอาการน้ำเดินเกินกว่า 12-14 ชั่วโมง โดยกรณีของอาการน้ำเดินก่อน 37 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นหากเกิดในระยะ 37 สัปดาห์ก็จะทำคลอดก่อนกำหนด
ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง
สัญญาณที่ 7 อาการที่ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง อาการที่เกิดขึ้นระหว่าง 32-37 สัปดาห์ หลังจาก 30 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะดิ้นเป็นเวลา ดิ้นถี่ขึ้น สม่ำเสมอมากขึ้น ดังนั้นจะนับอาการดิ้นตั้งแต่ 30 สัปดาห์เป็นต้นไป เช่น ทารกกระแทก ให้นับ โดยใน 1 ชั่วโมง ต้องดิ้นหรือกระแทก 4 ครั้งขึ้นไป ถ้าชั่วโมงแรกไม่ถึง 4 ครั้ง ให้นับชั่วโมงที่สอง ไม่ครบ 4 ครั้ง ก็ให้คิดว่ามีปัญหา เช่น อาจเกิดอาการสายสะดือพันคอ อาจเกิดการเสียชีวิตในครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นหลังจาก 32 สัปดาห์ ให้สังเกตทารกดิ้นในครรภ์น้อยลงต้องรีบมาที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะใช้เครื่องตรวจวัดออกซิเจน เพื่อพิจารณาว่าจะต้องคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ กรณีที่ดิ้นน้อยลงนั้น นอกจากสายสะดือพันคอจะมีภาวะติดเชื้อ ขาดออกซิเจนจากสาเหตุอื่น เช่น รกลอกก่อนกำหนด น้ำคร่ำน้อย
มีไข้ในระหว่างตั้งครรภ์
สัญญาณที่ 8 คือ มีไข้ในระหว่างท้องเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะว่าเวลาคุณแม่ตั้งครรภ์ภูมิต้านทานของร่างกายจะต่ำลง อาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์หญิงธาริณี เน้นย้ำว่า ช่วงที่ต้องระวังคือไตรมาสแรก กับไตรมาสสาม ไตรมาสแรกให้ระวังอีกอย่าง คือ มีไข้ มีผื่น ซึ่งเป็นอาการของหัดเยอรมัน จะทำให้เด็กมีความผิดปกติ หรือพิการได้ ปากแหว่ง เพดานโหว่ง หรือแขนขาผิดรูปพิการได้ ในส่วนไข้ที่เกิดขึ้นจากกรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ มีอาการไอ อาการไข้ ปอดติดเชื้อ ถ้ามีอาการไข้หวัดใหญ่หรือการติดเชื้อ อาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด มีไข้และปวดท้องอาจเป็นอาการไส้ติ่งอักเสบ จะทำให้เกิดการแท้งลูกได้ หากเป็นไข้ ต้องรีบมาพบแพทย์ที่ฝากท้องเพื่อหาสาเหตุ ซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ว่าเกิดอาการไข้จากสาเหตุใด เพื่อรักษาอย่างทันท่วงทีแบบตรงจุด