การฝึกควบคุมการหายใจในระยะเจ็บครรภ์ ในปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะนอกจากจะใช้บรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอดแล้ว ยังทำให้เพิ่มกำลังในการเบ่งคลอดให้มากขึ้นด้วย
ขณะเจ็บท้องคลอด มดลูกจะเริ่มบีบตัวห่างๆ คือ บีบเกร็งนานประมาณ 1 นาที แล้วคลายตัวทุก 5- 10 นาที ระยะนี้ยังไม่ปวดมาก เมื่อถึงระยะเด็กจะคลอด มดลูกจะบีบตัวนานประมาณ 1 นาที ทุกๆ 3-4 นาที ทำให้มีอาการปวดมาก เนื่องจากมดลูกจะบีบตัวอย่างรุนแรง เพื่อดันให้ส่วนนำของเด็กคลอดทางช่องคลอด
ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มฝึกหายใจบ่อยๆ ตั้งแต่ครรภ์ 6-7 เดือน เพื่อให้เกิดความเคยชิน และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระหว่างเจ็บท้องคลอด ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามระยะเวลาการคลอด ดังนี้
การหายใจแบบลึก และช้า
วิธีนี้ใช้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการเจ็บครรภ์ ซึ่งการบีบตัวของมดลูกยังไม่รุนแรงมาก ควรใช้การหายใจแบบลึกและช้า เรื่อยไปจนถึงช่วงมดลูกบีบตัวอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาใช้การหายใจแบบที่ 2
วิธีการฝึก
- เมื่อมดลูกเริ่มบีบรัดตัว หายใจเข้าปอดลึกๆ ช้าๆ โดยการนับจังหวะ 1-2-3-4-5 แล้วค่อยๆ หายใจออกทางปากช้าๆ นับจังหวะ 1-2-3-4-5 ให้เป็นจังหวะตลอดระยะเวลาที่มดลูกบีบตัว (ประมาณ 1 นาที)
- เมื่อมดลูกเริ่มคลายจังหวะจะเจ็บน้อยลง ให้หายใจเข้า – ออกเต็มที่อีก 1 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติเป็นการเสร็จสิ้น การหายใจลึกและช้า 1 ครั้ง เมื่อมดลูกบีบตัวใหม่จึงค่อยเริ่มการหายใจเข้าจากข้อ 1.1 ถึง 1.2 ใหม่
การหายใจแบบตื้น เร็วและเบา (แบบเป่าเทียน)
วิธีนี้ใช้เมื่อการเจ็บครรภ์รุนแรงมากขึ้น ปากมดลูกเปิดมากจนใกล้ถึงเวลาคลอด มดลูกจะบีบตัวถี่มากและรุนแรงมากขึ้น
วิธีการฝึก
- เมื่อมีสัญญาณมดลูกบีบตัว ให้หายใจเข้า-ออก เต็มที่ 1 ครั้ง
- ต่อไปให้หายใจเข้าทางจมูกแบบตื้นเร็วและเบา 4-6 ครั้ง ติดต่อกันเร็วๆ คล้ายกับหายใจหอบ
- หายใจออกโดยการห่อปาก และเป่าลมออกทางปากเบาๆ 1 ครั้ง ให้สมดุลกับการหายใจเข้า นั่นคือ อัตราการหายใจเข้าเท่ากับการหายใจออกทุกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามดลูกจะเริ่มคลายตัว
- เมื่อมดลูกคลายตัวความเจ็บปวดจะน้อยลง ให้หายใจแบบลึกและช้าเพื่อผ่อนคลาย และเพื่อนำออกซิเจนไปให้ทารกในครรภ์ได้มากขึ้น