เมื่อมีอาการแสบร้อนที่ยอดอก อย่าเพิ่งวางใจว่าคุณเป็นแค่กรดไหลย้อนธรรมดา เพราะนี่..คืออีกหนึ่งอาการที่เกิดจาก “โรคนิ่วในถุงน้ำดี” โรคที่มักพบได้บ่อย…และรักษาได้ด้วย “การผ่าตัด”
ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดี เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร โดยน้ำดีจะถูกสร้างจากตับแล้วถูกลำเลียงออกมาทางแขนงของท่อน้ำดีในเนื้อตับ เข้าสู่ท่อน้ำดีใหญ่ของตับ แล้ววกกลับขึ้นไปที่ท่อของถุงน้ำดี เข้าไปพักไว้ในถุงน้ำดีก่อน เพราะที่ลำไส้เล็กส่วนต้นมีหูรูดปิดอยู่ น้ำดีจึงยังไหลลงไปไม่ได้
เมื่อเราทานอาหารที่มีไขมันเข้าไป ระบบประสาทอัตโนมัติจะสั่งการให้หูรูดที่ลำไส้เล็กเปิดออก ถุงน้ำดีบีบตัวขับน้ำดีออกมา ผ่านท่อของถุงน้ำดี ลงมายังท่อน้ำดีรวม เข้าสู่ลำไส้เล็ก น้ำดีมีหน้าที่ตีไขมันให้แตกตัวเป็นหยดเล็กๆ จากนั้นจึงถูกน้ำย่อยไลเปส จากตับอ่อนย่อยต่อให้เป็นกรดไขมัน และกลีเซอรอล
ถุงน้ำดี VS โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกี่ยวข้องกันยังไง??
โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับถุงน้ำดี ที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด คือ โรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของตับ ทำหน้าที่เหมือนอ่างเก็บน้ำ คอยกักเก็บ และปล่อยน้ำดีออกมา ช่วยในเรื่องการย่อย และดูดซึมสารอาหารให้ดียิ่งขึ้น
โดย “ก้อนนิ่ว” จะเกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อนคล้ายกับน้ำตาลที่ตกตะกอนอยู่ด้านล่างของขวดน้ำเชื่อม ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด และด้วยวิวัฒนาการในปัจจุบัน จึงมีวิธีการรักษาแนวใหม่ คือ การผ่าตัดในถุงน้ำดีผ่านช่องคลอด
ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี..แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด
- ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
- พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากขึ้น
- ภาวะอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตั้งครรภ์ มีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้
- เพศและอายุ โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในเพศหญิงและผู้สูงอายุ
- โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
- การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น โอกาสเกิดการตกตะกอนก็มากขึ้น
- อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
อาการที่บ่งบอกว่าคุณ(อาจ)เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา โดยมีระยะเวลาปวดตั้งแต่ 15 นาทีถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน
- หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา และอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มได้
การวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี
- การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ
- การทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน
- การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography: ERCP) จะทำในกรณีที่สงสัยว่ามีนิ่วในท่อน้ำดี
- การใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี (percutaneous transhepatic cholangiography: PTC) จะทำในกรณีท่อน้ำดีอุดตัน
แนวทางการรักษานิ่วในถุงน้ำดี
- การผ่าตัดถุงน้ำดี
- การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง
- การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (laparoscopic cholecystectomy)
การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography: ERCP) ในกรณีที่มีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย
การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านช่องคลอด (Trans Vagina Cholecystectomy)
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น..หลังผ่าตัด!
เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดี ในกรณีที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก น้ำดียังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันตามปกติ เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิม ทั้งนี้พบว่า 10% ของคนที่ไม่มีถุงน้ำดีอาจมีอาการท้องเสียจากน้ำดีไหลออกมามากเกินไปได้
สำหรับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านช่องคลอด (Trans Vagina Cholecystectomy) ควรทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัดโดนท่อน้ำดี ท่อน้ำดีรั่ว หรือท่อน้ำดีตันได้