เวียนศีรษะ บ้านหมุน สัญญาณเตือนที่อันตรายกว่าที่คิด

พญาไท 2

2 นาที

อ. 18/01/2022

แชร์


Loading...
เวียนศีรษะ บ้านหมุน สัญญาณเตือนที่อันตรายกว่าที่คิด

“เวียนศีรษะ” เป็นอาการที่แทบทุกคนต้องเคยเจอกับตัวเองมาบ้าง ซึ่งลักษณะอาการโดยรวมก็คือ จะเกิดอาการมึนหัว รู้สึกมึนงง รู้สึกร่างกายลอยๆ โคลงเคลง ไม่มั่นคง หรืออย่างที่เรียกกันว่า “อาการบ้านหมุน” รวมไปถึงอาจมีอาการหน้ามืดร่วมด้วย  โดยอาการเวียนศีรษะสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาจจะพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งบางคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ แต่บางครั้งอาการเวียนศีรษะก็เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน

 

ทำไมเราจึงรู้สึกเวียนศีรษะ?

พญ.ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้อธิบายถึงอาการเวียนศีรษะไว้ว่า เป็นอาการที่พบบ่อย โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงการที่รู้สึกสมองตื้อไม่แจ่มใส เหมือนมีเมฆหมองบางๆ ปกคลุม คล้ายคนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทำงานหรือลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ ประกอบกับประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น การได้ยิน และการทรงตัวลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ มาจากสิ่งเหล่านี้

  1. ระบบประสาทรับภาพของตา (หรือระบบประสาทเคลื่อนไหวลูกนัยน์ตา) ไม่สัมพันธ์กับสภาพที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น ในขณะที่รถกำลังวิ่งเร็ว หรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆ
  2. ระบบประสาทรับสัมผัสจากระบบต่างๆ ไม่เป็นปกติ เช่น การยืนใกล้กับหน้าผาที่มีขนาดใหญ่มาก หรือเกิดภาวะกลัวความสูง
  3. ระบบรับสัญญาณประสาทของสมองส่วนกลาง เช่น ประสาทส่วนกลางถูกกดจากการทานยานอนหลับ ดื่มสุราหรือภาวะอดนอน ภาวะความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือมีโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง ได้แก่ ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น

 

ลักษณะอาการ…ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น!

พญ.ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปการทรงตัวของมนุษย์จะเกิดจากการทำงานประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน ที่มีความสำคัญมาก คือสายตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูชั้นใน โดยมีสมองเป็นศูนย์กลางการสั่งการและคอยควบคุมการทำงานต่างๆ ให้เกิดความสมดุล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดินบนท้องถนน สายตาจะมองภาพต่างๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลให้กับสมองว่าควรจะเคลื่อนที่อย่างไร ระบบประสาทรับความรู้สึกจะรู้ว่าขาได้เคลื่อนที่ออกไป และหูชั้นในจะคอยปรับสภาพการทรงตัวให้พอดีกับแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้ไม่เดินเซไปมา ทุกอย่างจะทำงานอย่างสัมพันธ์กัน แต่หากความสมดุลที่รักษาไว้ไม่คงที่อีกต่อไป…ก็จะทำให้เกิด “อาการเวียนศีรษะ” ขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่มีอาการมึนหัว คือ “รู้สึกเวียนหัวเพียงอย่างเดียว” ไม่มีอาการบ้านหมุนๆ หรือสิ่งรอบตัวหมุน รู้สึกมึนงง เบาๆ ลอยๆ และมีอาการหน้ามืดหรือวูบได้ง่าย กลุ่มอาการเวียนหัวแบบนี้ เกิดจากแรงดันเลือดและปริมาณเลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ พบในผู้สูงอายุหรือมีภาวะโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน และอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา
  2. กลุ่มที่มีอาการหลอนของการเคลื่อนไหว ผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้ จะรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบๆ ตัวหมุน โดยที่ตัวเราอยู่นิ่ง คล้ายกับเมาเหล้า ทำให้เสียการทรงตัว เดินไม่สะดวก และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเวียนหัวในกลุ่มนี้เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและสมดุลต่างๆ ในร่างกาย เช่น โรคนิ่วในหูชั้นใน โรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน หรือมีการติดเชื้อลึกเข้าไปหูชั้นใน เป็นต้น โดยแพทย์จะเรียกอาการในกลุ่มนี้ว่า  Vertigo

 

5 โรคสำคัญ…สาเหตุที่ทำให้ ‘เวียนหัว’

  1. โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน พบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ (ระหว่างล้มตัวลงนอน ก้มหยิบของ) อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป แต่ผู้ที่ป่วยโรคนี้มักมีอาการเป็นซ้ำเกือบทุกวัน แต่จะไม่มีอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือได้ยินเสียงผิดปกติในหู รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง
  2. โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน ไมเกรนเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะปวดหัวข้างเดียว มีอาการปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งในบางครั้งแทนที่จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวเป็นอาการที่โดดเด่น แต่กลับกลายเป็นว่ามีอาการเวียนหัวแทน มักจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป เมื่อมีอาการเกิดขึ้นประสิทธิภาพการได้ยินจะลดลง หูอื้อ แพ้แสงจ้า หรือมีการเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย บางครั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากเกิดอาการหูอื้อ
  3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียการทรงตัว เดินแล้วเซหรือล้มได้ง่าย โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับร่างกายเพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวเพิ่มขึ้นได้
  4. โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตหลายประเภท ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
  5. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช จะเกิดอาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือที่ชุมชน แต่อาการจะหายไปเมื่อไม่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติมาก (Hyperventi lation syndrome) หายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชาและเย็น หรือมือจีบเกร็ง และเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก

 

คำถามเพื่อการค้นหา…ต้นเหตุอาการเวียนหัว

หลายๆ คนมีอาการเวียนหัวบ่อยจนเริ่มสงสัยว่าจะเป็นอะไรมากกว่าอาการที่แสดงออกมาหรือเปล่านั้น พญ.ดลจิตต์ ให้คำแนะนำว่า ควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุดมากที่สุด โดยคำถามที่จะต้องถามเพื่อสืบค้นหาต้นตอของปัญหา มีดังนี้

  • ลักษณะของอาการเวียนหัว มึนหัว
  • มีอาการเวียนหัว โดยเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนท่าอย่างกะทันหันหรือไม่ เช่น การหันหน้า นั่งแล้วนอน หรือจากนอนเปลี่ยนเป็นท่านั่ง
  • ความรุนแรง และความถี่ของอาการเวียนหัว มึนหัว
  • รู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวหมุน หรือตัวเองหมุนรอบสิ่งต่างๆ หรือไม่
  • ระยะเวลาที่เกิดอาการดังกล่าว
  • ในแต่ละครั้งจะมีอาการนานแค่ไหน
  • เวียนหัวมึนหัวบ่อยแค่ไหน
  • ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัว
  • ปัจจัยที่ทำให้หายจากอาการเวียนหัว มึนหัว
  • หลังจากเกิดอาการเวียนศีรษะมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ความเครียด
  • หน้ามืดหรือเป็นลมหมดสติ
  • มีเสียงดังในหู

 

เมื่อเกิด “อาการบ้านหมุน” เทคนิคนี้ช่วยได้

  • บริหารศีรษะ
    • ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง ทำขณะลืมตา ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • หันศีรษะจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง ควรทำในขณะที่หลับตา
  • บริหารตา
    • มองขึ้นบนแล้วมองลงล่าง ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • กลอกตาจากซ้ายไปขวา แน่นอนว่าให้เริ่มต้นทำช้าๆ เช่นกัน เพราะถ้าเริ่มทำแบบเร็วๆ จะทำให้เวียนหัว มึนหัวมากกว่าเดิม ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • เหยียดแขนไปข้างหน้าสุดแขน และใช้สายตาจ้องนิ้วชี้เอาไว้ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนกลับมาที่เดิมช้าๆ ทำแบบนี้ 20 ครั้ง
  • บริหารในท่านั่ง
    • ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง ขณะที่นั่งอยู่
    • หันไหล่ไปทางขวา แล้วหันไปทางซ้าย ทำ 20 ครั้ง
    • ก้มตัวไปข้างหน้าแล้วหยิบของจากพื้นช้าๆ แล้วค่อยๆ ดึงตัวกลับมานั่งตรง ทำซ้ำแบบนี้ 20 ครั้ง จะรู้สึกว่าได้ยืดเส้นยืดสาย
  • การเคลื่อนไหว
    • เดินขึ้นลงบันได ขณะลืมตา 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
    • โยนลูกบอลยางเล็กๆ โดยต้องโยนจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งแล้วรับให้ได้ มีข้อแม้ว่าต้องโยนให้สูงเหนือระดับตา ทำอย่างน้อย 10 ครั้ง

 

“โรคเวียนศีรษะควรแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา โดยสืบค้นหาต้นตอได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายและการวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อรักษาอาการเวียนหัว บ้านหมุนให้ดีขึ้น หรือรักษาโรคนี้ให้หายขาด”


การตรวจเช็กสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เราสามารถค้นเจอรอยโรคได้เร็ว และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...