โรคหลอดเลือดสมอง… ที่เราเคยได้ยินกันนั้น อาจหมายถึงได้ทั้ง โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ โรคหลอดเลือดสมองแตก โดยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันนั้นจะพบได้สูงกว่าโรคหลอดเลือดสมองแตกประมาณ 4 เท่า แม้ว่าจะอันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่รักษาได้…หากรู้ทันอาการเตือน!!
อาการเตือน…อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
อาการทางระบบประสาทที่เป็นอย่างรวดเร็ว หรือ ทันที (sudden) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจากลิ่มเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง (embolic stroke) หรือเส้นเลือดแดงในสมองแตก (intracranial hemorrhage) แต่ในรายที่เส้นเลือดค่อยๆ ตีบตันอาการจะเป็นแบบค่อยๆ มากขึ้นแล้วคงที่สักพัก แล้วก็แย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนขั้นบันได (stepwise) ในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน โดยสัญญาณเตือนที่สังเกตได้ คือ…
- แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ
- หน้า หรือ ปากเบี้ยว
- พูดไม่ชัด พูดไม่เป็นภาษา หรือไม่เข้าใจภาษา
- เวียนศีรษะตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนท่าทาง
- เห็นภาพซ้อน ตาบอดชั่วขณะ มองไม่เห็นครึ่งซีก
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
- เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ในสมองแข็งและตีบตัน (artherothrombosis) ทำให้เนื้อสมองตายเป็นบริเวณกว้างและอาจเกิดสมองบวมกดเนื้อสมองข้างเคียงตามมาได้
- เกิดจากลิ่มเลือดมาจากหัวใจหลุดมาอุดเส้นเลือดในสมอง (cardioembolism) มักพบร่วมกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (atrlal flbrlllatlon) หรือเป็นก้อนเล็กๆ หลุดมาจากผนังของเส้นเลือดใหญ่ที่เสื่อมสภาพ (artery to artery embolism)
- เกิดจากการเสื่อมของเส้นเลือดเส้นเล็ก (lacunar infarclion) บริเวณเนื้องอกสมองที่ตายจะไม่มากแต่ผู้ป่วยอาจจะอ่อนแรงมากๆ ได้ ถ้าอาการคงอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงจะเรียกว่าเป็น การขาดเลือดแบบชั่วคราว (Translent ischemic attack) หรือ TIA หรือ Mini – stroke ซึ่งส่วนใหญ่อาการมักนานไม่เกินครึ่งชั่วโมง
รู้ไหม? การขาดเลือดแบบชั่วคราว…นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบตันถาวรได้
กรณีที่เกิดการขาดเลือดแบบชั่วคราว (TIA) แล้วนั้น ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันถาวร ตามมาได้ถึง 1 ใน 10 คน ในสัปดาห์แรก และประมาณ 2 ใน 10 คน ในเดือนแรก หลังจากนั้นโอกาสจะน้อยลงเป็นประมาณ 4-5 ใน 100 คนต่อปี ดังนั้น แพทย์จึงเน้นให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนมีอาการของการขาดเลือดแบบชั่วคราวมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ให้การรักษาก่อนที่จะมีอาการของสมองขาดเลือดและเนื้อสมองตายอย่างถาวร
ควบคุมปัจจัยเสี่ยง…ช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงกว่า รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ด้วยการปรับพฤติกรรม และใส่ใจดูแลตนเอง
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น คนที่อายุมาก เพศชาย เชื้อชาติ และการมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ที่มีปัจัยเหล่านี้จะมีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่า
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะเฉียบพลันรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้น ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว…ยิ่งเพิ่มโอกาสรอด