ไซนัสไม่ใช่หวัดเรื้อรัง...และรักษาให้หายขาดได้

ไซนัสไม่ใช่หวัดเรื้อรัง...และรักษาให้หายขาดได้

หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘ไซนัส’ กันอยู่บ่อยๆ เลยเข้าใจผิดว่าคือชื่อโรค แต่แท้จริงแล้วคำว่า ไซนัส (Sinus) หมายถึง โพรงอากาศโล่งๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบๆ โพรงจมูก ซึ่งจะมีอยู่ข้างละ 4 โพรง ได้แก่ บริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง แก้ม หน้าผาก และใต้ฐานกะโหลกศีรษะ หากโพรงไซนัสเหล่านี้ติดเชื้อและเกิดอาการอักเสบขึ้น เราจะเรียกโรคนั้นว่าเป็น ‘ไซนัสอักเสบ’ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่าเป็น “ไซนัส”

 

เมื่อเป็นไซนัสอักเสบจะมีอาการอย่างไร ?

ผศ.นพ.กิติ ขนบธรรมชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หู คอ จมูก และหัวหน้าแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายถึงการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบไว้ว่า สามารถพิจารณาได้จากอาการสำคัญ 3 อย่าง คือ

  1. แน่นจมูก
  2. ปวดบริเวณตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของโพรงไซนัส
  3. มีน้ำมูกหรือเสมหะข้น

ปกติ หากเป็นไข้หวัดธรรมดาๆ อาการของผู้ป่วยมักจะหายเองได้ภายใน 7-10 วัน แต่ถ้ามีอาการลักษณะคล้ายไข้หวัดเกิน 10 วัน ประกอบกับมี 3 อาการบ่งชี้ดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นไซนัสอักเสบ ซึ่งความยืดเยื้อเรื้อรังของโรคจะขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส หากสาเหตุมาจากไวรัส ผู้ป่วยบางคนอาจสามารถหายเป็นปกติเองได้

 

ใครก็ตาม หากมีอาการคล้ายเป็นไซนัสอักเสบแล้วอาการแย่ลง เช่น ปวดบริเวณตำแหน่งของโพรงไซนัสเพิ่มเป็นหลายจุด ปวดรุนแรงขึ้น หรือเสมหะที่เคยเป็นสีขุ่นๆ กลายเป็นสีเขียว และมีปริมาณเสมหะมากขึ้น หรือคัดจมูกมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม ซึ่งอาจจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อการฆ่าเชื้อ

 

รู้หรือไม่? เป็นไซนัส…อาจลุกลามถึงขั้น “ตาบอด” ได้นะ

ไซนัสอักเสบบางชนิดไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดสามารถลุกลามไปสู่ลูกตา… ทำให้ตาบอดได้! หรืออักเสบจากหน้าผากลามเข้าไปทำให้เกิดฝีในสมอง ในคนปกติทั่วไปโอกาสที่ไซนัสอักเสบจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นนี้มีน้อย ส่วนใหญ่รักษาด้วยการใช้ยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ไซนัสก็สามารถหายได้ ยกเว้นในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คนที่ผ่าตัดอวัยวะแล้วต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไว้ คนที่มีโครงสร้างในจมูกไม่ดี เช่น มีผนังจมูกคด มีเนื้องอก มีริดสีดวงในจมูกไปอุดตันช่องระบายอากาศของโพรงไซนัส อาจทำให้การรักษาตามวิธีปกติไม่ค่อยได้ผล

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ห้ามว่ายน้ำเด็ดขาด
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่น ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในห้องที่แอร์เย็น ต้องใส่เสื้อผ้าให้อุ่น
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน เช่น จากร้อนมากไปเย็นจัดในทันทีทันใด
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อจมูกบวม
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศไม่ดี เช่น บริเวณที่มีคนสูบบุหรี่ ที่จอดรถใต้ดินที่ระบายควันได้น้อย สถานที่ที่มีควันไฟ ควันธูป ควันยากันยุง เพราะควันมีผลทำให้เนื้อเยื่อจมูกบวมมากขึ้น

 

เป็นไซนัส…ถ้ารักษาถูกวิธีก็มีโอกาสหายได้

เมื่อมาพบแพทย์ ผู้ป่วยมักจะได้รับยาบรรเทาอาการปวด และคำแนะนำในการลดความบวมของเนื้อเยื่อจมูก อาจเป็นการล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นที่สะอาดอย่างถูกวิธี หรือให้ยากิน ยาพ่นจมูกลดความบวม ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็ต้องรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม

 

ถ้าสภาวะอากาศดี ไม่มีฝนตก ไม่มีควัน อากาศไม่หนาวมากและผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โพรงจมูกข้างในไม่มีตัวถ่วงการรักษา เช่น มีเนื้องอกริดสีดวงจมูก ผู้ป่วยมักหายดีได้ภายในสองอาทิตย์ แต่สิ่งสำคัญ คือ ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ก็ควรมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหายสนิทอย่างแท้จริง มิฉะนั้น โรคอาจสงบลงช่วงหนึ่งและกำเริบขึ้นมาอีก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นไซนัสอักเสบแล้วรักษาไม่หาย

 

บรรเทาอาการไซนัสอักเสบ…ด้วยการล้างจมูกตามขั้นตอนนี้

  1. เตรียมน้ำเกลือล้างจมูกใส่ขวดสำหรับล้างจมูกโดยเฉพาะ
  2. ก้มหน้าลงและแหย่ปลายขวดเข้าไปในรูจมูก
  3. กลั้นหายใจทางจมูกพร้อมกับอ้าปากค้างไว้
  4. ค่อยๆ บีบขวดเบาๆ ให้น้ำเกลือเข้าทางรูจมูกข้างหนึ่ง (ถ้าปลายขวดอยู่ที่รูจมูกข้างขวา น้ำเกลือจะต้องไหลออกทางรูจมูกข้างซ้าย)
  5. ทำซ้ำๆ จนรู้สึกว่าน้ำมูกไม่ข้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งน้ำมูกที่เหลือออกจนหมด
  6. ล้างจมูกอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน

 

อยู่อย่างไร? …ให้ห่างไกลไซนัสอักเสบ

โรคในระบบทางเดินหายใจมักติดต่อผ่านทางอากาศ หากเราหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบไม่หักโหม หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำขณะเป็นหวัดหรือกำลังจะเป็นหวัด อยู่ในที่อุณหภูมิพอเหมาะไม่เย็นจัดหรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลัน ไม่ไปที่ที่มีคนมากๆ ถ้าไม่จำเป็น เช่น ไปงานนิทรรศการ ไปห้างสรรพสินค้า หากต้องไปควรใส่หน้ากากอนามัยและอยู่ให้ห่างจากคนที่มีอาการไอ จาม หากพบว่าตัวเองเป็นหวัดก็รีบเข้ารับการรักษาให้หายแต่เนิ่นๆ การปฏิบัติตัวตามแนวทางนี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไซนัสอักเสบได้

 

หากสงสัยว่าเป็นไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก โดยตรง เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางจะมีกล้องส่องเข้าไปในโพรงจมูก จุดใดที่ล้างจมูกไม่ถึงหรือมีความบวมมาก แพทย์สามารถใส่ยาที่ตำแหน่งนั้นและดูดน้ำมูก เสมหะ หรือหนองที่คั่งค้างติดอยู่ในโพรงไซนัสออกมาได้ ทำให้ระบายเชื้อโรคออกมาได้เร็วขึ้น หายป่วยได้ง่ายขึ้น


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...