สมาธิสั้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กทั่วโลก ราว 5% พบในเด็กวัยเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น เฉลี่ยราว 2 : 50 คนต่อหนึ่งชั้นเรียน พ่อแม่หลายคนมีความวิตกกังกลเมื่อพบว่าลูกป่วยเป็นสมาธิสั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดใจยอมรับ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติได้
ปัจจัยที่พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมาธิสั้น
- พันธุกรรม ถ้าพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีโอกาสถ่ายทอดโรคได้สูงว่าคนทั่วไป
- เด็กคลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย
- เด็กที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทางสมอง มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มารดาที่ติดบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ลูกมีภาวะเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้น
- ภาวะพิษจากสารตะกั่ว
- สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการแสดงที่เด่นชัด และรุนแรงมากขึ้น
เมื่อลูกเป็นโรคสมาธิสั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ผลกระทบต่อตัวเด็ก
- ด้านการเรียนรู้
ด้วยลักษณะของโรคสมาธิสั้นจะมีอาการเหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ ทำงานสะเพร่า ไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ถึงแม้สติปัญญาจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม - ด้านอารมณ์และพฤติกรรม
เนื่องจากบุคคลอื่นดุด่าว่ากล่าวบ่อยๆ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเร ดื้อ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม อดทนการรอคอยไม่ได้ หงุดหงิด มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด - ด้านสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง
เนื่องจากมีอารมณ์ และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ทำให้เด็กมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ดี ถ้าได้รับการดูแลไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบไปจนโตเป็นผู้ใหญ่
ผลกระทบกับพ่อแม่และครอบครัว
- สภาพจิตใจ ของคนในครอบครัวโดยเฉพาะ พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลต้องเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า เครียด โกรธ เกิดความท้อแท้ในการดูแล
- สัมพันธภาพในครอบครัว เกิดความขัดแย่งในวิธีการเลี้ยงดู กล่าวโทษกัน จนเกิดการผลักภาระไปให้อีกฝ่ายดูแล
- ด้านเศรษฐกิจ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มมาก
สังเกตอย่างไร…ว่าลูกน้อยแค่ซน หรือเป็นโรคสมาธิสั้น
- ขาดสมาธิ (Inattention) แสดงออกด้วยอาการเหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย หลงลืมการทำกิจวัตร ของหายบ่อยๆ เหมือนไม่ฟังคำพูด
- อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ซุกซนมากกว่าเด็กปกติ ชอบปีนป่าย โลดโผน นั่งนิ่งไม่ได้นาน ขยับแขนขาบ่อยๆ หยุกหยิก พูดไม่หยุด ชอบแกล้ง
- หุนหันวู่วาม (Impulsivity) ใจร้อน อดทนรอคอยไม่ค่อยได้ พูดแทรก แซงคิว การเล่นไม่อยู่ในกติกาของกลุ่ม ข้ามถนนไม่ระวังรถ ผู้ป่วยอาจเสียใจการกระทำแต่ไม่สามารถหยุดตัวเองได้ทัน
การดูแลลูกสมาธิสั้น…คุณทำได้!
การดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโรค ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม รวมถึงการเปิดใจยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดย พญ. อดิศร์สุดา เฟื่องฟู และพญ.ศิรินทร์ญา เทพรักษ์ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้
- เป็นแบบอย่างที่เหมาะสม โดยไม่ควรทะเลาะหรือใช้ความรุนแรง ใช้คำพูดที่สุภาพเรียบร้อย
- วางแผนกิจกรรมสำหรับเด็กในหนึ่งวัน สร้างกิจกรรมที่เหมาะสมและชัดเจนตั้งแต่เช้าจนเข้านอน
- จัดสถานที่ให้เอื้ออำนวย ไม่รบกวนสมาธิของลูกในขณะอ่านหนังสือ ทำการบ้าน เช่น ไม่ควรอยู่ใกล้ทีวี
- เด็กบางคนขาดสมาธิง่าย พ่อแม่อาจต้องนั่งอยู่ใกล้ๆ คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานจนเสร็จ
- การสั่งงาน ควรสั่งทีละอย่าง และให้เด็กพูดทบทวนคำสั่งเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ ควรเป็นคำสั่งที่สั้น กระชับ ชัดเจน
- สนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ
- หากลูกซุกซนมากอยู่ไม่นิ่ง โลดโผน ควรจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับอาการของลูก เช่น การสิ่งเก็บลูกบอล การปีนป่าย แต่ต้องระวังเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ที่ปลอดภัย
- ไม่ใช่คำพูดเชิงลบ เช่นคำว่า โง่ ขี้เกียจ เลว จะทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า ไม่ทำโทษด้วยความรุนแรง ไม่ควรทำร้ายร่างกายหรือดุด่าให้เจ็บช้ำ อับอาย
- การทำโทษควรใช้วิธีตัดสิทธิ์ แต่ก็ควรแจ้งกติกาการทำโทษให้ลูกทราบก่อนล่วงหน้า เช่น ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จจะไม่ให้ดูทีวี 1 วัน เป็นต้น
- สร้างแรงจูงใจ เมื่อลูกทำงานได้สำเร็จ ควรกล่าวชมเชยหรือให้รางวัลทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสามารถ และมีกำลังใจที่จะทำงานอื่นๆให้สำเร็จ
- สื่อสารกับทางโรงเรียนและคุณครู เพื่อช่วยสังเกตพฤติกรรมของลูก ช่วยดูแลลูกระหว่างที่อยู่โรงเรียนโดยอธิบายให้ทางโรงเรียนเข้าใจเกี่ยวกับ โรคและการดูแลที่เหมาะสม
โรคสมาธิสั้น มีโอกาสหายได้หรือไม่?
โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่ต้องรักษาและดูแลกันอย่างยาวนานต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ในการปรับพฤติกรรมของตนเอง สำหรับการดูแลลูกสมาธิสั้น และเรียนรู้วิธีการปรับพฤติกรรมของลูก ทั้งการพาลูกไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และการสื่อสารกับทางโรงเรียน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ช่วยดูแลลูกอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นหนทางช่วยให้ลูกน้อยมีโอกาสหายจากโรคหรืออาการดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการดีขึ้นหรือหายได้เมื่อโตขึ้นประมาณ 30 % และอีก 70 % ยังคงมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่
พ่อแม่ควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กตั้งแต่เริ่มมีอาการ
หากสังเกตพฤติกรรมของลูกแล้วพบว่ามีการขาดสมาธิ ซุกซน ใจร้อนรอไม่ได้ เกินกว่าเด็กทั่วไป ถ้าสงสัยควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัยวางแผนการรักษา และแนะนำการดูแลลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม ดีกว่าปล่อยไว้จนกระทั่งลูกมีอาการรุนแรงจนเป็นปัญหาสุขภาพจิต และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง อันเรื่องมาจากคุณพ่อ คุณแม่ ไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจ วิธีการเลี้ยงลูกสมาธิสั้น หากสงสัยให้รีบปรึกษาจิตแพทย์เด็กแต่เนิ่นๆ