อาการปวดท้อง เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่หากเกิดอาการปวดท้องในเด็กเล็ก ที่ยังพูดหรือยังบอกไม่ได้ว่าตนเองรู้สึกเจ็บปวดตรงไหน มีอาการอย่างไร? พอลูกร้องไห้งอแง ก็ยิ่งสร้างความสงสัยและวิตกกังวลว่าลูกร้องเพราะ ‘ลูกปวดท้อง’ หรือเปล่า?
ซึ่ง อาการปวดท้องของเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ สามารถแยกเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง อันมีสาเหตุได้จากหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและมีอาการร่วมที่แตกต่างกัน เช่น อาเจียน มีไข้ โดยแยกตามกลุ่มอายุ คือ
- เด็กแรกเกิด
- เด็กเล็ก
- เด็กโต
กลุ่มสาเหตุที่ทำให้เด็กปวดท้องแบบเฉียบพลัน
- ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการปวดท้องโดยเฉียบพลัน มีไข้ อาเจียน และถ่ายเหลว มักพบในเด็กแรกเกิดมากที่สุด
- ลำไส้กลืนกัน สาเหตุนี้ เด็กจะไม่มีไข้ แต่จะปวดท้องแบบเฉียบพลัน และอาเจียน ถ่ายเป็นมูก ร้องไห้กวนงอแง มักพบได้ในกลุ่มเด็กเล็ก
- ลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ จะปวดท้องถ่ายเหลว มีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้มักพบในกลุ่มเด็กเล็ก เช่นกัน
- ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการไข้ร่วมด้วย โดยปวดท้องแบบเฉียบพลัน และด้านล่างข้างขวาปวดมากกว่าจุดอื่น พบได้ในกลุ่มเด็กโต
- เส้นเลือดในลำไส้อักเสบ หรือที่เรียกว่า “Henoch” จะมีอาการมีผื่นขึ้นเป็นจ้ำๆ ปวดท้องรุนแรงมาก ปวดจนตัวบิด เป็นต้น
กลุ่มสาเหตุที่ทำให้เด็กปวดท้องแบบเรื้อรัง
กลุ่มนี้มักปวดท้องติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 7-14 วัน และเป็นๆ หายๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรต้องดูด้วยว่า มีอาการร่วมด้วยหรือไม่ โดยอาการร่วมอาจมีได้ ดังนี้
- เด็กจะมีอาการปวดท้อง แน่นลิ้นปี่ ทานอาหารได้น้อย
- เด็กเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- เกิดจากโรคลำไส้อักเสบ หรือมีแผล เป็นต้น
- ตัวเหลืองตาเหลือง กลุ่มนี้จะพบว่าเป็นเรื่องของระบบน้ำดีอุดตัน หรือโรคติดเชื้อ
- ตับอักเสบจากไวรัส
- ท้องผูกเรื้อรัง มักจะไม่มีอาการรุนแรง และไม่พบอาการร่วม
จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกปวดท้องผิดปกติ ?
- เมื่อลูกปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้จากการอาการที่แสดงออกมา เช่น อาการอาเจียน ถ่ายเหลว มีไข้หรือไม่ เป็นต้น
- เมื่อลูกปวดท้อง ลูกปวดท้องแบบไหน ปวดรุนแรง ปวดเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆหรือว่าปวดไม่รุนแรง ปวดนานแค่ไหน กินอะไรแล้วทำให้ปวด เป็นต้น
- ลูกปวดท้องจากการประสบอุบัติเหตุหรือไม่ เช่น การกระทบกระแทก เป็นต้น
การตรวจค้นหาโรค เมื่อมีอาการปวดท้อง
ก่อนอื่นแพทย์จะต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจจำเป็นจะต้องมีการตรวจแบบพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจทางรังสีวิทยา เอกซเรย์ช่องท้อง อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตรวจเอกซเรย์ (CT Sacn) หรือในบางรายหากมีเหตุจำเป็นจะต้องตรวจโดยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหาร และจะต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางเด็ก ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการตรวจ และค้นหาสาเหตุของการปวดท้องที่แท้จริงได้อย่างแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม หาก ‘ลูกมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง’ โดย เฉพาะ มีไข้ ท้องเสีย ถ่ายเหลวหลายครั้ง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน คุณพ่อคุณแม่โปรดอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว