หัวใจล้มเหลว น่าจะเป็นภาวะอันตรายที่หลายๆ คนรู้ดีว่า…คือ ต้นเหตุของการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน! ทั้งที่จริงๆ แล้ว คุณก็สามารถป้องกันตนเองจากภัยเงียบที่น่ากลัวนี้ได้ ด้วยการสังเกตความผิดปกติของตนเอง…และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับสุขภาพในแต่ละช่วงวัยของคุณ
อาการที่บ่งบอกว่า…เสี่ยง “หัวใจล้มเหลว”
- รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก เมื่อออกกำลังกาย
- หายใจลำบากเมื่อนอนหงาย / นอนราบ
- ตื่นกลางดึกเพราะไอ หรือหายใจลำบาก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ข้อเท้า, เท้าหรือขาบวม
- เวียนศีรษะ หน้ามืด
- เข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน
ภาวะหัวใจล้มเหลว มีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย..
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว คือ การมีโรคหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ), โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า Dilated cardiomyopathy, โรคลิ้นหัวใจต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือ โรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การติดเชื้อโรคต่างๆ เกิดภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) เกิดไทรอยด์เป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ความดันโลหิตสูงฉับพลัน (เช่น พบในผู้ที่หยุดกินยารักษาความดันโลหิตสูงกะทันหัน) การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นจากเดิมฉับพลัน หรือ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
ทำไม? หัวใจล้มเหลว….จึงเสี่ยงเสียชีวิตภายในเสี้ยววินาที
ภาวะหัวใจล้มเหลว…ไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดลดลง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี หัวใจจึงพยายามบีบตัวมากขึ้น…เพื่อให้ปริมาณเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นปกติ กล้ามเนื้อห้องหัวใจที่ยืดขยายนี้จึงค่อยๆ อ่อนล้า…และไม่สามารถสูบฉีดได้ดีอีกต่อไป!!
ภาวะหัวใจล้มเหลว…สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี…ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและสภาพความพร้อมของร่างกายผู้ป่วย โดยอาจรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือด, ยาลดความดันโลหิต หรือ ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ที่เป็นการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจ และการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ
เลิกสูบบุหรี่…ช่วยลดความเสี่ยง “ภาวะหัวใจล้มเหลว” ได้นะ
เพราะการสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้น…การเลิกบุหรี่ จึงช่วยให้ความเสี่ยงนี้ลดลง โดยในการเลิกนั้นต้องเลิกแบบเด็ดขาด! หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือผู้คนที่กระตุ้นความอยากสูบบุหรี่ รวมถึงพยายามหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์…เพราะมีผลกระตุ้นให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ได้
ด้วยสาเหตุและอาการของ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” นั้น…ไม่มีความจำเพาะเจาะจงชัดเจน เพราะฉะนั้น การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสุขภาพหัวใจ จึงเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยคอนเฟิร์มได้ว่า..หัวใจของคุณกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายหรือไม่?