ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “วัยทอง” เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงกังวล เพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้นอารมณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามไปด้วย เหวี่ยงบ้าง วีนบ้างจนบางทีแยกแทบไม่ออกว่านี่เป็นอาการของวัยทอง หรือเป็นอารมณ์หงุดหงิดของตัวเอง ซึ่ง พญ.ศิริอร สุมาลย์นพ สูตินรีแพทย์ด้านนรีเวชศาสตร์และสตรีวัยทองศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 2 จะมาไขข้องสงสัยยอดฮิตของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนให้ได้รู้กัน…
1. วัยหมดประจำเดือน คืออะไร ?
ผู้หญิงเมื่ออายุเลยวัย 40 ขึ้นไป การทำงานของรังไข่จะชะลอลงบางคนประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจจะมาถี่ขึ้นในช่วงแรก และค่อยๆ ห่างออกมาจนหมดไปในที่สุด ซึ่งมักจะเกิดในช่วงอายุ 47-50 ปี
2. ทำไมเรียกวัย 40+ ว่า “วัยทอง” ?
เมื่อเริ่มวัย 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีหน้าที่การงานที่มั่นคง รวมถึงมีครอบครัวและสังคมที่ดี จึงถือเป็นวัยแห่งความสำเร็จของชีวิต ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่คนสาวนใหญ่มักเรียกวัยนี้ว่า “วัยทอง”
3. อาการแบบไหน ที่เข้าข่ายวัยทอง ?
ในช่วงแรกประจำเดือนจะมาไม่ปกติ และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ปวดเมื่อยตามตัวตามข้อ อ่อนเพลีย เบื่อหน่ายทุกเรื่อง บางคนอาจมีโรคกระดูกพรุน และไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย
4. เป็นไปได้ไหมที่จะเข้าสู่วัยทอง ตั้งแต่อายุยังน้อย ?
ในผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมดและผู้หญิงที่ได้รับการฉายแสงหรือได้รับเคมีบำบัดจากการรักษาโรค มักจะหมดฮอร์โมนเพศก่อนกำหนดไปด้วย จึงทำให้มีอาการแบบเดียวกับผู้หญิงวัยทองแต่ความรุนแรงของอาการจะมากกว่า เนื่องจากเป็นการขาดฮอร์โมนแบบเฉียบพลันและอายุยังน้อย
5. แต่ละคนจะมีอาการวัยทองคล้ายกันไหม ?
สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องของพันธุกรรมและพฤติกรรม ผู้หญิงที่ถูกตัดรังไข่ออกตั้งแต่อายุยังน้อยย่อมมีอาการเสื่อมถอยเร็วกว่าคนที่หมดประจำเดือนตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สำหรับในคนอ้วนมักมีอาการน้อยเพราะมีฮอร์โมนสะสมตามร่างกายสำรองไว้มากกว่าคนผอม
6. เมื่อเข้าวัยทองยังมีลูกได้ไหม ?
สาวน้อยสาวใหญ่ที่กำลังย่างเข้าวัยทอง โดยส่วนใหญ่มักเริ่มหลังอายุ 40 ปี จะมีลูกยากเนื่องจากรังไข่เริ่มรวนเรทำงานไม่ปกติ การสร้างฮอร์โมนเพศจึงขึ้นๆ ลงๆ นานๆ ทีจะมีไข่ตกสักครั้ง เลยทำให้ประจำเดือนจะแปรปรวนไม่ปกติ ส่งผลให้โอกาสที่จะมีลูกยากขึ้น
7. ฮอร์โมนเพศมากจากไหน ?
เมื่ออยู่ในวัยสาวรังไข่จะผลิตฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นมาซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มีการพัฒนาการของร่างกายให้มีลักษณะเพศหญิงและยังมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก ไขมันในเลือด สมอง อารมณ์ จิตใจ และอวัยวะสืบพันธุ์ นอกจากนี้รังไข่ยังผลิตฮอร์โมนโปรเจสโตโรนซึ่งให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดี แต่ในช่วงที่ไม่มีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะปรับเยื่อบุโพรงมดลูกให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
8. อาการร้อนวูบวาบในวัยทองเป็นอย่างไร ?
เป็นความรู้สึกร้อนขึ้นทันทีที่ผิวบริเวณศรีษะหรือหน้าอก และมักมีเหงื่อออกมา รู้สึกหนาว อ่อนเพลีย และวิงเวียน บางคนเป็นตอนกลางคืนโดยอาการนี้มักเกิดใน 2-3 ปีแรกของการหมดประจำเดือน
9. มีอาการแสบเวลามีเพศสัมพันธ์
เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนระดับเอสโตรเจนในร่างกายจะต่ำมาก จึงทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์อาจมีอาการแสบร้อน ซึ่งสาเหตุเกิดจากผนังและเยื่อบุผิวช่องคลอดแห้งสูญเสียความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังทำให้ช่องคลอดแคบและสั้นลงทำให้สร้างน้ำหล่อเลี้ยงได้น้อยจึงทำให้เกิดอาการเจ็บ
10. ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
การขาดเอสโตรเจนส่งผลให้เนื้อเยื่อและเส้นเลือดรอบกระเพาะปัสสาวะฝ่อเหี่ยวทำให้กลั้นปัสสาวะลำบาก เวลาไอ จาม หรือหัวเราะแรงๆ อาจเกิดปัสสาวะเล็ด เพราะการที่ร่างกายขาดเอสโตรเจนทำให้เยื่อบุผิวทางเดินปัสสาวะบางลง ติดเชื้อได้ง่ายบางรายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย และเสียวแสบขัดตอนปัสสวะใกล้ๆ จะสุด
“วัยทอง” รับมือได้ไม่ยาก เพียงแค่ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยยืดระยะเวลา และช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายได้เช่นกัน”