อาการปวดคอที่พบบ่อย อย่าง กล้ามเนื้อตึงบริเวณต้นคอ หัวไหล่ เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง คลำได้ก้อนแข็งที่กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ หรือมีอาการปวดร้าวลงแขน แขนชาหรืออ่อนแรง หากเรารู้วิธีป้องกัน เราก็จะสามารถใช้งานคอของเราไปได้อีกยาวนาน และยังลดโอกาสการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่คอได้
“อาการปวดคอ” เกิดได้จากอะไรบ้าง?
- การยอก (Strain) เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อบริเวณคอผิดปกติ นอนวางคอผิดปกติ เช่น ใช้ผิดท่าหรือใช้มากเกินไป อยู่ท่าเดียวเป็นเวลานาน ๆ นั่งก้มเวลาทำงาน และอาจพบการบวมของเนื้อเยื่อซึ่งเกิดจากการอักเสบ การฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณคอ
- อุบัติเหตุ เช่น ทางรถยนต์ หรือการเล่นกีฬา ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณต้นคอมีการยึดหรือการฉีกขาด อาจพบมีเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน พบได้ไม่บ่อย..อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่อบริเวณคอรุนแรง โดยเกิดหลังรถชนหรือตกจากที่สูง การไอหรือจามแรงๆ อาจจะพบร่วมกับการใช้ท่าทางคอที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
- การอักเสบของข้อต่อจากสภาวะเสื่อม พบในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีประวัติอุบัติเหตุต่อกระดูกข้อต่อมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการเคลื่อนไหวของคอลดลง อาจพบว่ามีอาการปวดร้าวบริเวณแขน เนื่องจากมีกระดูกงอกไปเบียดรากประสาทบริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ อาจพบว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อตึงบริเวณต้นคอ หัวไหล่ เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง คลำได้ก้อนแข็งที่กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ หรือมีอาการปวดที่ต้นคอ หัวไหล่ แล้วร้าวไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง ตลอดจนอาการชา อ่อนแรง บริเวณแขนข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น
เมื่อมีอาการปวดคอ…ควรปฏิบัติอย่างไร?
- นอนพัก เพื่อลดการทำงานของคอ โดยอาจใช้หมอนใบเล็กๆ รองใต้บริเวณคอร่วมด้วย
- ประคบน้ำแข็ง โดยใช้ถุงพลาสติกหนาๆ ใส่น้ำแข็งประคบที่บริเวณคอ เพื่อลดอาการปวด
- การรับประทานยา แพทย์อาจแนะนำให้ยารับประทานช่วยลดอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือข้อต่อ
ปวดคอ..ป้องกันได้ ด้วยปรับพฤติกรรมต่างๆ
- ท่ายืน : ไม่ก้มโค้งศีรษะลง เช่น การอาบน้ำฝักบัว ถ้าท่านเป็นคนรูปร่างสูง อาจจำเป็นต้องงอเข่าเล็กน้อย รวมถึงท่าเดิน ควรตั้งศีรษะให้ตรง
- ท่านั่ง : การโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือ ทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานมากกว่าปกติ ควรจะยกหนังสือให้ตั้งขึ้นระดับสายตา วางตั้งบนกองหนังสือหรือกล่องก็ได้ รวมทั้งขณะขับรถควรเคลื่อนตัวให้ใกล้พวงมาลัย
- ท่านอน : การใช้หมอนสูงเกินไป ทำให้ศีรษะโน้มไปข้างหน้ามากเกินจนเกิดการยอกของกล้ามเนื้อคอได้ ควรใช้หมอนใบเล็กหนุนระดับใต้บริเวณคอ..หากชอบนอนหงาย หรือ ใช้หมอนหนุนระดับศีรษะและคอ..หากชอบนอนตะแคง
ลักษณะท่านั่งทำงาน…ที่ป้องกันการปวดคอแบบถูกต้อง!!
- ควรใช้แว่นตาให้เหมาะสมกับสายตาเพื่อป้องกันการขยับคอบ่อย ๆ ขณะทำงานและป้องกันการยอกของคอ
- ปรับระยะตัวหนังสือที่ต้องอ่านประจำให้อยู่ระดับสายตา และให้เท้าอยู่เหนือพื้น 3-4 นิ้ว เพื่อช่วยลดอาการยอกของหลังและช่วยจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรง
- เลือกเก้าอี้ที่มีส่วนหนุนหลังช่วงล่าง (หรืออาจใช้ผ้าขนหนูม้วนเข้าด้วยกัน) หนุนที่หลังส่วนล่าง เพื่อช่วยจัดกระดูกสันหลังให้ตรง และขาควรอยู่ตั้งฉากกับพื้น เพื่อลดการยอกของหลัง
เคล็ดลับป้องกันคอ..แบบง่ายๆ
- หลีกเลี่ยงการแหงนคอมากเกินไป
- เฉลี่ยน้ำหนักให้สมดุล เมื่อหิ้วสัมภาระทั้ง 2 แขน
- พักยืดเส้นสายเมื่อต้องเดินทางไกล ควรพักเป็นระยะ ๆ เพื่อผ่อนคลายและเป็นการยืดกล้ามเนื้อของต้นคอ
- ลดภาวะเครียดในชีวิตประจำวัน ภาวะเครียด มักจะแสดงออกในรูปของการปวดหรือตึงของกล้ามเนื้อคอได้
เมื่อมีอาการปวดคอ ควรรักษาด้วยวิธีเหล่านี้
สำหรับผู้ที่เริ่มเป็น อาการไม่มาก ควรรักษาด้วยการรับประทานยา ปรับพฤติกรรม ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ส่วนผู้ที่มีอาการหนัก…สังเกตได้จากอาการปวดร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง แขนชา อ่อนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด
ผ่าตัดผ่านกล้อง…เทคนิครักษาผู้ป่วยกระดูกคอเสื่อม
ปัจจุบันมีการรักษาอาการอ่อนแรงจากกระดูกคอเสื่อมด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ใช้ได้กับการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกและผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก เป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่มีความปลอดภัย ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูง ทำให้เห็นเส้นประสาทบริเวณคอได้อย่างชัดเจน ลดความเสี่ยงพิการหลังการผ่าตัดหรือความเสียหายของเนื้อเยื้อที่ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้