หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยร้ายไม่ทันระวัง !

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

พ. 25/03/2020

แชร์


Loading...
หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยร้ายไม่ทันระวัง !

“ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ คือการที่หัวใจมีอัตราการเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติไม่เหมาะสมกับสภาพของร่างกายในขณะนั้น ซึ่งอาจมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติร่วมด้วย หัวใจเต้นผิดปกติอาจเป็นความผิดปกติในอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น เต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปหรืออาจเป็นความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้”

อย่างไรถึงจะเรียกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ ?

โดยปกติดอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที หากอัตราการเต้นของหัวใจนั้นต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที แสดงว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ(เต้นช้ากว่าปกติ) หากมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที นั้นแสดงว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เต้นเร็วกว่าปกติ)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการอย่างไร?

  • อาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ  จะมีอาการมึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นหนักอาจจะเป็นลมหมดสติ ในรายที่ อาการไม่มากอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
  • อาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ  หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะมีอาการเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากเป็นหนักจะมีการอาการ เจ็บหน้าอก หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวายและอาจเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน

อะไรคือสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

  • กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด
  • การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ มักเกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • โรคบางชนิดส่งผลให้เกิดการเต้นผิดจังหวะเช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ยาและสารเสพติดบางชนิด การกินยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
  • ความเครียดและความวิตกกังวล

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG หรือ Electrocardiogram ในขณะที่มีอาการ
  • การตรวจคลื่นหัวใจแบบพกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่า Holter Monitoring ซึ่งจะเป็นการตรวจและวัดอัตราการเต้นของหัวใจตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติจะได้รีบเข้ารักษาได้ทันที
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (exercise stress test; EST)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
  • การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอันตรายร้ายแรงหรือไม่?

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้และทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดและเสียชีวิตได้ในทันที

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะในรายที่ไม่มีอาการรุนแรงนั้นเริ่มต้นนั้นอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจแทนเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการลง
  • การจี้กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ลัดวงจรด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  • ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติหรือเครื่องกระตุกหัวใจในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ

การดูแลตนเองของผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น “ความเครียด” ถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้หัวใจเกิดความผิดปกติเต้นเร็วขึ้น เมื่อความเครียดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทประเภทต่างๆไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะนั้นเอง

การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ถึงแม้ว่าไม่สามารถหาทางป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ การสูบบุหรี่ และลดความเครียดจากการทำงาน หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายตนเองให้ดีอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...