รู้ให้ทัน…รักษาให้ไวกับโรคไข้เลือดออก

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

อ. 18/09/2018

แชร์


Loading...
รู้ให้ทัน…รักษาให้ไวกับโรคไข้เลือดออก

“โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เดงกี” (Dengue virus) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ โดยมียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกในระยะไข้สูงแล้วเชื้อไวรัสเดงกีนี้จะอยู่ในตัวยุงตลอดไปและถ่ายทอดผ่านทางไข่ไปสู่ยุงรุ่นต่อๆไป ทำให้ผู้ที่ถูกยุงลายเหล่านี้กัดจึงติดเชื้อไวรัสเดงกีแล้วเป็นโรคไข้เลือดออกได้….”

โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ทุกจังหวัดในประเทศไทย ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากฝนที่ตกทำให้ยุงลายเพิ่มขึ้น หากพบว่ามีอาการ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก มีผื่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดท้อง แน่นท้อง ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วล่ะก็…ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และการรักษาที่ถูกต้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

โรคไข้เลือดออกมีการกำเนิดโรคเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะไข้ : ผู้ป่วยทุกรายจะมีไข้สูงลอย ในระยะนี้จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดกระดูก ร่วมด้วย ประมาณ 2-7 วัน
  2. ระยะวิกฤติ : จะเกิดช่วงปลายระยะไข้จนถึงระยะไข้ลด ประมาณ 24-48 ชม. ผู้ป่วยจะมีเกร็ดเลือดต่ำลงมาก (มักจะต่ำกว่า 100,000 ตัว/ลบ.มม.) มีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือเกิดภาวะช็อกขึ้น มีเลือดออกผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น เลือดออกในสมอง ในปอด ในระบบทางเดินอาหารหรือมีน้ำในช่องเยื้อหุ้มปอด น้ำในช่องท้องได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง จนถึงเสียชีวิตได้
  3. ระยะฟื้นตัว : เมื่อเข้าสู่ระยะฟื้นตัวผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลา ประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตปกติ อาจมีผื่นเป็นวงกลมเล็กๆ สีขาว ของผิวหนังปกติ ท่ามกลางผื่นสีแดงร่วมด้วยได้

เมื่อเป็นไข้เลือดออกควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  1. ระยะที่มีไข้สูง ควรเช็ดตัวลดไข้อยู่เสมอ อาจให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ร่วมด้วย
  2. ดื่มน้ำชดเชยให้เพียงพอ
  3. ระมัดระวังการกระทบกระแทก การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเลือดออกง่าย
  4. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น
  5. หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ควรไปตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและมีญาติดูแลอย่างใกล้ชิดหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์

สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดและกำจัดแหล่งน้ำขังในบ้านให้หมดไปซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดลูกน้ำยุงลาย และที่สำคัญคือการพึงระวัง หมั่นดูแลตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติที่แตกต่างไปจากเดิม ควรเข้ารับการตรวจเช็คอาการโดยไม่ปล่อยปละละเลย


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...