จากข้อมูลสถิติพบว่า ผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก สูงถึงวันละ 14 คน ทั้งที่จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถรักษาได้หากตรวจพบความผิดปกติก่อนจะลุกลามร้ายแรง วันนี้ เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับ “การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ที่ผู้หญิงควรรู้มาฝากกัน..
การตรวจภายใน คืออะไร?
การตรวจภายใน หรือเรียกว่า “การตรวจพีวี” (PV, Per vaginal examination) เป็นการที่แพทย์ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ด (Speculum) ต่อจากนั้นจะตรวจด้วยมือเพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรีนั้นอีกครั้ง
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การตรวจที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่สองวิธี ได้แก่
- การตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap smear) ซึ่งจะใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างลงบนแผ่นกระจกโดยตรง
- แบบแผ่นบาง (Thin layer) จะเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดจากเครื่องมือกวาดเซลล์ แล้วนำเซลล์ที่กวาดได้ใส่ไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อน
การตรวจแป๊บสเมียร์แบบสามัญนั้น พบว่ามีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ 50-60% ในขณะที่การตรวจแบบแผ่นบาง มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ 70-80% และในการตรวจแบบแผ่นบาง สามารถมีการตรวจหาเชื้อเอชพีวีได้เลย ซึ่งพบว่า…วิธีการตรวจหาเชื้อเอชพีวีร่วมกับการตรวจแป็ปสเมียร์แบบแผ่นบาง จะมีความสามารถในการตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงถึงเกือบ 100%
การเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน
- งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจภายใน 2 วัน
- ควรหลีกเลี่ยงช่วงที่กำลังมีประจำเดือน งดการเหน็บยาในช่องคลอดและงดสวนล้างช่องคลอดก่อนตรวจ
ขั้นตอนก่อนจะมีการตรวจภายใน
- แพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆทางนรีเวช เช่น การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ตกขาว ประวัติการคลอด ประจำเดือน การคุมกำเนิด ในการตรวจภายใน
- แพทย์จะให้ผู้ป่วยไปปัสสาวะทิ้งให้เรียบร้อยก่อน เพราะการมีปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จะส่งผลให้แพทย์ตรวจคลำอวัยวะต่างๆในอุ้งเชิงกรานได้ไม่ชัดเจน
- เปลี่ยนชุดพร้อมถอดกางเกงชั้นในให้เรียบร้อย
- ขึ้นนอนบนเตียงที่มีขาหยั่งเพื่อรอตรวจ ควรแยกเข่าออกจากกันให้มาก เพื่อจะได้สะดวกแก่แพทย์ในการตรวจ
- หลังจากแพทย์ใส่ถุงมือแล้ว แพทย์จะบอกผู้ป่วยว่า ต่อไปจะตรวจด้วยเครื่องมือ หลังจากถอดเครื่องมือ แพทย์จะตรวจด้วยมือ
การตรวจภายในควรทำเมื่อไหร่
- สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ที่สุขภาพปกติดีทุกคน ควรต้องตรวจภายในทุกปี
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีประจำเดือนผิดปกติ
- มีอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังเป็นๆหายๆ
- ตกขาวผิดปกติ
- คลำแล้วพบก้อนที่ท้องน้อย
- ท้องอืด แน่นอึดอัดในท้อง น้ำหนักลด ผอมลง