ลูกติดเพื่อน อาจไม่ใช่พฤติกรรมที่พ่อแม่ชื่นชอบ แต่หากมองในแง่ของการเรียนรู้การเข้าสังคมแล้ว เพื่อนคือคนที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การมีเพื่อนจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เด็กควรมี เพียงแต่พ่อแม่ต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับพฤติกรรมลูกติดเพื่อน…อย่างถูกต้อง!!
พฤติกรรมติดเพื่อน…ตามแต่ละช่วงวัย
1. ในวัยเด็กเล็กถึงเด็กโต เด็กอาจยังไม่ค่อยมีปัญหาติดเพื่อน เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กกำลังมุ่งมั่นให้ความสำคัญเรื่องการเรียน แต่หากเด็กติดเพื่อนตลอด ไม่ค่อยอยู่บ้าน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- การไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ทำให้เด็กหมดกำลังใจในการมุ่งมั่นเรื่องการเรียน และมาจับกลุ่มเล่นกับเพื่อนแทน
- ความเป็นอยู่หรือการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กจะออกไปไหนก็ได้ โดยไม่ได้กำหนดขอบเขตหรือเวลา เช่น ให้รู้ว่าเวลานี้ควรเล่นอยู่ที่บ้าน และไม่ควรออกไปข้างนอกบ้านเพราะอะไร เด็กจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องการทำหน้าที่ของตนเอง การรู้จักจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม
2. ในวัยรุ่น การติดเพื่อนนั้นมองว่าเป็นพัฒนาการปกติเพราะเด็กรู้สึกว่าโตแล้วอยากจะมีอิสระ พึ่งพาตนเองได้ มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง คิดว่าไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัวมากนัก และอยากได้การยอมรับจากบุคคลภายนอก เด็กก็จะเริ่มอยากทำกิจกรรมนอกบ้านมากยิ่งขึ้น บางครั้งมีการโต้เถียงกับคนในบ้านเพื่อแสดงความคิดเห็นของตน เริ่มไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว ทำให้พ่อแม่บางท่านมีความกังวลเนื่องจาก เมื่อพูดคุยหรือสอนลูกนั้น เด็กก็จะมักโต้เถียง และไม่เข้าใจกัน ซึ่งพ่อแม่ก็กลัวว่าลูกจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนไม่ดี เป็นต้น
ลูกติดเพื่อน พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร?
- ผู้ปกครองควรยอมรับและเข้าใจว่าเป็นพัฒนาการปกติของเด็ก ควรรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น โดยไม่พยายามเข้าไปควบคุมเด็กมากเกินไป ใช้การเสนอแนะ แนะนำให้เด็กได้คิดทบทวนอย่างรอบคอบในหลายๆด้าน และเลือกวิธีการเองตามที่เด็กพิจารณาจากการคิดในหลายๆด้าน ช่วยให้เด็กได้จัดการผลของการกระทำของตนเองได้
- หากเด็กคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น โดดเรียน มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ เหล้า ยาเสพย์ติด หรือพฤติกรรมชกต่อย ทะเลาะวิวาทกัน ผู้ปกครองควรสอดส่องบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยรักษาความสัมพันธ์และรับฟังเด็กให้มาก เพราะการมีความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เด็ก นึกถึงคนในบ้าน และนึกถึงสิ่งที่เคยได้รับคำตักเตือน ข้อห้ามและกติกาภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงได้
- ร่วมมือกับคุณครูในการสอดส่องบุตร หลาน เพื่อนบ้านต่างๆ ในการดูแล เพื่อให้เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง กลับมาเสี่ยงน้อยลง ปลอดภัยมากขึ้น
- ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในบ้าน หากความสัมพันธ์ในบ้านไม่ดี เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง พูดจาไม่ดีต่อกัน ใช้อารมณ์ ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด เป็นทุกข์ ก็จะทำให้เด็กอยากออกจากบ้านและเข้าหาเพื่อนมากขึ้น เพราะต้องการความสุข ความสบายใจ และการยอมรับจากเพื่อนหรือคนนอกบ้าน เพราะภายในบ้านมีบรรยากาศที่ไม่ดี จึงต้องปรับสภาพในบ้านให้น่าอยู่ ลดความขัดแย้ง ก็จะช่วยให้เด็กไม่ติดเพื่อนมากจนเกินไป
- ส่งเสริมให้เด็กและกลุ่มเพื่อนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เหมาะสมกับวัย ได้ใช้ความรู้ความสามารถของเด็กได้อย่างเต็มที่ และทำตนเป็นประโยชน์กับชุมชน โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือให้เด็กได้แสดงความสามารถ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเด็กอยู่กับกลุ่มเพื่อนได้
พญ. ชนม์นิภา แก้วพูลศรี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2