Targeted Therapy การรักษามะเร็งเฉพาะจุด กับทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า...

พญาไท 2

1 นาที

ศ. 27/03/2020

แชร์


Loading...
Targeted Therapy การรักษามะเร็งเฉพาะจุด  กับทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า...

หากพูดถึงการรักษามะเร็ง เรามักคุ้นเคยกับเรื่องของ “การฉายรังสี” และ “คีโม” แต่ในปัจจุบัน…ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่เรียกว่า Targeted Therapy การรักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคล แล้วการรักษาที่ว่านี้คืออะไร? มีความแตกต่าง…หรือดีกว่าวิธีเดิมๆ ในสมัยก่อนอย่างไร เรามีคำตอบจาก นพ.ประสาร ขจรรัตนเดช อายุรแพทย์ เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.พญาไท 2 มาฝากกัน…

อยากให้คุณหมออธิบายว่า Targeted Therapy มีขั้นตอนอย่างไร

ก่อนเริ่มการรักษา เราจะทำการตรวจเซลล์มะเร็งของคน ๆ นั้น เพื่อวิเคราะห์ดูว่ามีโมเลกุลหรือโปรตีนที่จำเพาะเจาะจงใดบ้าง แล้วมาเทียบว่ามียาตัวใดที่ผ่านการ approve มาแล้ว และสามารถยิงตรงเข้าสู่เซลล์มะเร็งนั้นได้ เพราะในคนไข้มะเร็งชนิดเดียวกัน..ก็อาจมีการใช้ยาในการรักษาต่างกัน

เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่ายาตัวไหน..เข้ากับคนไข้รายนั้นได้

ในการรักษาแบบ Targeted Therapy เราจะมีกระบวนการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Precision Medicine  คือ เราจะนำตัวอย่างเซลล์มะเร็งของคนไข้หลายๆ คนมาวิเคราะห์โมเลกุล โปรตีน และลักษณะความผิดปกติของยีน ผมขอยกตัวอย่างเป็น “มะเร็งปอด” เมื่อเรานำเซลล์มะเร็งปอดจากคนไข้จำนวนมากมาตรวจ เราจะดูว่าในคนไข้มะเร็งปอด มักพบความผิดปกติในลักษณะใดบ่อย ๆ แล้วก็แบ่งกลุ่มของความผิดปกตินั้น ๆ เช่น คนไข้กลุ่มที่มีการสร้างโปรตีนผิดปกติ จากนั้นเราก็จะมาหาว่าเกิดขึ้นจากยีนตัวใด แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบตัวยา ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของวิศวพันธุกรรม โดยยาบางชนิดอาจผลิตได้ง่าย แต่บางชนิดก็ผลิตได้ยาก ทำให้ความผิดปกติของยีนบางอย่าง แม้พบได้บ่อย…แต่ก็ยังไม่มีตัวยาในการรักษา

“Targeted Therapy” แตกต่างจากวิธีสมัยก่อนอย่างไร

การรักษามะเร็งสมัยก่อน หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และ คีโม ซึ่งการผ่าตัดกับการฉายรังสีจะเป็นการรักษาเฉพาะที่ คือเป็นตรงไหนก็ตัดก้อนมะเร็งตรงนั้นออก แต่การใช้ยาหลักที่สำคัญในการรักษา คือ Chemo Therapy เป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษกับเซลล์ ในขณะที่ Targeted Therapy เป็นการเข้าไปหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเมื่อเซลล์มะเร็งไม่มีการเติบโต…เซลล์ก็จะตายในที่สุด !

ที่สำคัญ Chemo Therapy เป็นการรักษาที่ไม่มุ่งเป้า เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เข้ามารับการรักษา รูปแบบเซลล์มะเร็งต่างกัน…แต่ตัวยาที่มีการผลิตขึ้นหรือผ่านการ approve แล้ว กลับจำกัดอยู่เพียงแค่ 3-4 ตัวยา หรือจะนิยามง่าย ๆ ก็คือว่า Targeted Therapy เป็นเหมือนการตัดเสื้อแบบ Tailor-Made เป็นการตัดเสื้อเฉพาะคน ไม่ใช่การตัดเสื้อโหลแบบสมัยก่อน

เหตุผลที่ทำให้ “Targeted Therapy” เป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่า..

ด้วยกระบวนการทำงานของ Chemo Therapy คือ จะเข้าไปทำลายการแบ่งเซลล์..ไม่ว่าเซลล์นั้นจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือเป็นเซลล์ปกติ ! ในการพัฒนา Targeted Therapy จึงเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้การรักษามะเร็งมีผลข้างเคียงใด ๆ ต่อเซลล์ปกติ แต่ท้ายที่สุด ณ ปัจจุบัน Targeted Therapy ก็ยังมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติอยู่บ้าง แต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจะมีน้อยกว่า

นพ. ประสาร ขจรรัตนเดช
อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา

ศูนย์มะเร็ง รพ.พญาไท 2


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...