โรคกระเพาะอาหาร โรคเรื้อรัง...ที่อาจมีอันตรายแฝงอยู่

พญาไท 2

1 นาที

27/03/2020

แชร์


โรคกระเพาะอาหาร โรคเรื้อรัง...ที่อาจมีอันตรายแฝงอยู่

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia : Non-ulcer, ulcer) มีทั้งชนิดที่เป็นแผลและไม่เป็นแผล โดยอาการจะคล้ายคลึงกัน คือมีอาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก อาการมักเป็นๆ หายๆ และสัมพันธ์กับมื้ออาหาร อาจปวดก่อนอาหารเวลาหิว ปวดหลังอาหารเวลาอิ่ม และอาการจะดีขึ้นได้เมื่อได้รับประทานอาหาร แต่หากอาการรุนแรงกว่านั้น..อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

  • เชื้อโรคแบคทีเรีย  ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลโร ซึ่งจะติดต่อได้จากการกินอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่ไม่สะอาดปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้  เชื้อโรคดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหารได้
  • ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก (Aspirin และ NSAID) ทำให้มีโอกาสเป็นแผลกระเพาะอาหารหรืออักเสบมากขึ้น การหายของแผลช้า)
  • การสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการเป็นแผลกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แผลหายช้า เป็นใหม่ได้ง่าย  ทำให้การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลไม่ดี
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ภาวะเครียด ทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือทานรสเผ็ดจัด
  • ติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย  อาหารเป็นพิษ
  • ยารักษาสิว อาจทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหารได้

อาการเตือน…ถึงเวลาต้องพบแพทย์ทันที  (Alarming Symptom)

  • ถ่ายดำหรือถ่ายมีเลือดปน
  • น้ำหนักลด
  • ตัวซีด  เหลือง (ดีซ่าน)
  • ปวดรุนแรงนานเป็นชั่วโมง
  • มีอาเจียนรุนแรงติดต่อกัน หรืออาเจียนมีเลือดปน
  • เจ็บหรือกลืนลำบาก
  • มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • คลำก้อนในท้องได้ หรือต่อมน้ำเหลืองโต

แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร

  • ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกแน่นท้อง จุกเสียด ลมเรอ แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ มีแนวทางรักษา ดังนี้
  • รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • งดบุหรี่ งดเหล้า งดอาหารรสเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
  • ออกกำลังกาย
  • งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกโดยไม่จำเป็น

ในกรณีมีแผลในกระเพาะอาหาร อาจต้องวินิจฉัยด้วยวิธีเหล่านี้ก่อน

  • ตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
  • ตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างของกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรหรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าวร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 2 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์

หากอาการไม่ดีขึ้นหลังปฎิบัติตามข้างต้น หรืออาการเป็นมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญ ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ “การส่องกล้องกระเพาะอาหาร”

โดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร นอกจากดูว่ามีแผล เนื้องอก และมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถฉีดยาหรือห้ามเลือดด้วยวิธีต่างๆ ผ่านการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากกระเพาะอาหาร และสามารถติดตามดูการหายของแผลได้

โรคกระเพาะอาหาร ป้องกันได้

  • รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร
  • งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก โดยไม่จำเป็น
  • งดบุหรี่ งดเหล้า งดเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายคลายเครียด

 

นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...