ใครที่ชอบมองข้ามอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่มักเป็นอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวไอ เดี๋ยวเจ็บคอ เดี๋ยวทอลซิล รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส EBV ในร่างกายได้ พญ.ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ รพ.พญาไท นวมินทร์ จะมาไขข้อข้องใจเรื่องนี้ให้ฟังกัน
ไวรัส EBV คืออะไร
ไวรัส Epstein-Barr (EBV) หรือ human herpesvirus 4 (HHV4) เป็นไวรัสที่พบมากที่สุดตัวหนึ่งในมนุษย์ ซึ่งวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่าไวรัส EBV มีอยู่ในมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว มีอยู่ทั่วโลก และคนส่วนใหญ่ทั่วโลกติดเชื้อ EBV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งในบางคนทำให้เกิดโรค บางคนแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น บางคนมีอาการเล็กน้อย และบางคนไม่มีอาการใดๆ เลย นั่นเป็นเพราะว่าตัวเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ภูมิคุ้มกันแย่ลงก็พร้อมออกมาเล่นงานทันที
ต้นเหตุการเกิดโรคต่างๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
ไวรัสตัวนี้สามารถทำให้เกิดได้หลายโรค แต่โรคที่รู้จักกันดีคือโรคโมโน หรือ Infectious mononucleosis, glandular disease, หรือ kissing disease ซึ่งเป็นการติดเชื้อ EBV ครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้มีอาการไข้สูง เจ็บคอ ต่อมทอนซิลโตมาก ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตสองข้าง และอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย กินได้น้อย ปวดท้อง แน่นท้อง ตับม้ามโต สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ทางเดินหายใจอุดตันเนื่องจากทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองโตมาก ตับม้ามโตจนม้ามแตกเกิดภาวะตกเลือดในช่องท้อง หรือภาวะแทรกซ้อนทางระบบโลหิต ซึ่งผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่า และอาจถึงเสียชีวิตได้
รู้หรือไม่ “EBV” ไม่ใช่โรคใหม่
แม้ว่าก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่เคยมีการศึกษาในประเทศไทยพบว่าในช่วงวัยรุ่น 12-14 ปี เคยมีการติดเชื้อมาแล้วมากกว่า 95% ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะอายุมากกว่า 35 ปี เรียกได้ว่าแทบเกือบทุกคนน่าจะเคยติดเชื้อมาแล้วในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งอย่างที่บอกว่าเชื้อนี้พบได้ในคนส่วนใหญ่ คนที่เคยติดเชื้อแล้วแม้ว่าจะไม่มีอาการแสดง แต่ก็สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ ผ่านทางสารคัดหลั่ง น้ำลาย การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือเชื้อตัวนี้สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานโดยเฉพาะในภาวะที่ชื้น
“ทุกคน” ล้วนมีความเสี่ยง
เชื้อ EBV สามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ง่าย หากผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกจะสามารถแพร่เชื้อได้นานเป็นเดือน เนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงเพียงแค่ในช่วงเวลาที่ร่างกายอ่อนแอลง เชื้อ EBV ที่แฝงอยู่อาจเพิ่มจำนวนในร่างกายแล้วแพร่สู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโมโน หรือโรคติดเชื้อ EBV อื่นๆ ผู้ที่มีโรคประจำตัวร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือได้รับยาเคมีบำบัด กลุ่มนี้อาจมีการติดเชื้อซ้ำจากภายในตัวเอง หรือรับเชื้อใหม่จากผู้อื่นได้ง่าย
ป่วยเล็กๆ น้อยๆ อาจเกิดจากการติดเชื้อ
อาการของโรคมักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ประมาณ 2-3 วัน ตามด้วยอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นมากในช่วง 3-5 วันแรก และอาการจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ สามารถหายเองได้ใน 2-3 สัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่เมื่อรู้สึกว่าเริ่มไม่สบาย กินยา พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง คอบวม เจ็บคอมาก ให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เพราะอาจต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิฉัยแยกโรค เนื่องจากยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคโมโนได้อีก เช่น โรคติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ โรคคอตีบ โรค toxoplasmosis หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
“โรคโมโน ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ เมื่อร่างกายได้พักผ่อน และภูมิคุ้มกันทำงานอย่างปกติ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ EBV ขึ้นมาหลังการติดเชื้อ ทำให้สามารถตรวจเลือดพบได้ว่าเคยมีการติดเชื้อ EBV มาแล้ว หมั่นรักษาสุขอนามัยทั่วไป หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันแข็งแรง” พญ. ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ รพ.พญาไท นวมินทร์
พญ. ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ศูนย์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้ใหญ่และนักเดินทาง โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์