โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

พญาไท 1

1 นาที

พ. 25/03/2020

แชร์


Loading...
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นโรคเดียวกัน และเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยมาก โรคนี้เกิดจากภาวะแข็งตัวของผนังหลอดเลือดแดง (Arteriosclerosis) คล้ายกับสนิมที่เกาะอยู่ภายในผนังท่อน้ำ เมื่อสะสมนานเข้าก็ทำให้ท่อตัน

 

การแข็งตัวของผนังหลอดเลือดนั้นเกิดจากมีการสะสมของไขมันและหินปูน รวมทั้งเซลล์ต่างๆ ที่ผนังหลอดเลือดแดงชั้นในสุด โดยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพอกตัวหนาขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้รูท่อหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก (angina) หากเกิดการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่หัวใจอย่างเฉียบพลัน (Heart Attack) จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

  • เพศ : ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
  • พันธุกรรม : ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็น จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อายุ : อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปในเพศชาย แต่ปัจจุบัน 35 ปีขึ้นไปก็เริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเสริม เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ อดนอน กินอาหารที่มีไขมันมาก ส่วนผู้หญิงจะเริ่มในอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะดูแลตัวเองดีกว่าผู้ชายและมักเลือกกินอาหารไขมันต่ำ ทั้งยังมีฮอร์โมนเพศหญิงช่วยคุมไขมันด้วย

ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้

  • ภาวะความดันโลหิตสูง : ต้องรักษาและควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง : ควบคุมระดับไขมันในเลือดโดยการเลือกรับประทานอาหาร หรือกินยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • โรคเบาหวาน : ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • บุหรี่ : ควรงดสูบบุหรี่
  • แอลกอฮอล์ : ควรงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • โรคอ้วน : ควรคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน ไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วนเกินไป
  • การออกกำลังกาย : ควรหมั่นออกกำลังกายประเภทแอโรบิกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
  • ความเครียด : ควรฝึกการทำสมาธิ ปล่อยวาง ไม่วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ และทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
  • การพักผ่อน : ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชม.ต่อวัน

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบจะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีความผิดปกติ เนื่องจากจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลานาน จนกระทั่งมีความผิดปกติเป็นอาการแสดงออกให้เห็นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากแล้ว หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการโดยทั่วไปคือการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางรายอาจมีอาการหายใจไม่สะดวกหรือเหนื่อยง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือด (ที่มีออกซิเจนและสารอาหาร) ที่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงหัวใจ

 

เมื่อหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบแคบลง เลือดจะไม่สามารถถูกส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างเพียงพอ เมื่อหัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือความดันโลหิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องออกแรง หิว อิ่ม โกรธ โมโห ตกใจ ตื่นเต้น ฝันร้าย หัวใจจะต้องการเลือดมากขึ้น จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งทำให้เกิดผลได้หลายอย่างคือ

  • ไม่มีอาการใดๆ : กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน มักจะเสียชีวิตกะทันหันในเวลาทำกิจกรรมหนักๆ เช่น เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชายวัยทำงานที่ดูเหมือนแข็งแรงดีไม่มีโรค เพราะไม่มีอาการเตือน จึงไม่ค่อยสังเกตหรือดูแลตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงต้องเฝ้าระวังมากกว่าคนที่เคยมีอาการ เพราะคนที่เคยมีอาการจะทราบและดูแลตัวเองดีกว่าเดิม
  • เหนื่อยง่าย : หายใจไม่สะดวกเวลาออกแรง หรือทำกิจกรรมหนักๆ
  • บวมบริเวณปลายเท้าหรือข้อเท้าทั้งสองข้าง
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้เบาลงเพราะขาดเลือด (เหมือนคนขาดอาหารที่ไม่ค่อยมีแรง) หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทำให้หัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่ายการได้ตามต้องการ อาจมีการนอนราบไม่ได้
    • กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากมีการอุดตันอย่างกะทันหันภายในหลอดเลือดแดงที่หัวใจ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในบริเวณที่มีรอยตีบอยู่ก่อนแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ถูกเลี้ยงด้วยหลอดเลือดเส้นนั้นจะตายไป ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงและนานกว่าปกติ

 

อย่างไรก็ดี โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มีสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี เราจึงควรหันมาดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้วยการปรับพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ เช่น การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ปล่อยให้อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน พักผ่อนน้อย นอนดึก ทำงานอย่างเคร่งเครียด สูบบุหรี่หรือชอบปาร์ตี้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หันกลับมาดูแลร่างกายและหัวใจของเราด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อสุขภาพที่ดีจะอยู่กับเราไปนานๆ


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...