เราอาจคุ้นเคยกับโรคมะเร็งในผู้หญิง อย่าง มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปากมดลูก แต่คุณรู้ไหมว่า “มะเร็งรังไข่” ก็เป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงเลยทีเดียว แถมโรคนี้ก็ไม่มีอาการบ่งชี้และสาเหตุที่แน่ชัดอีกด้วย หากอยากรู้เท่าทัน “โรคมะเร็งรังไข่” นี่คือบทความที่คุณควรอ่าน!!
“ประจำเดือน” ปัจจัยทำเสี่ยงมะเร็งรังไข่
แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคมะเร็งรังไข่” จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ก็พบว่าปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ก็คือ การมีรอบเดือนในผู้หญิง เพราะเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้รังไข่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากไข่ที่ตกในทุกๆ เดือนจะทำให้รังไข่มีแผลเล็กๆ ที่สามารถหายได้เอง แต่หากได้รับการกระตุ้นให้มีไข่ตกบ่อยๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ได้ โดยผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี รวมถึงคนที่ยังไม่มีลูกก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้
รู้ไหม? “ใช้แป้งฝุ่นโรยอวัยวะเพศ” ทำเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้
พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช ได้เปิดเผยข้อมูลว่า การใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณอวัยวะเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบทาแป้งให้ลูกหลังอาบน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์..มีการพบว่า แป้งฝุ่นมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปในช่องท้องและกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ โดย พญ.ถนอมศิริ ได้แนะนำคุณแม่ทั้งหลายว่า “กรุณาหยุดใช้แป้งฝุ่นโรยให้ลูก” รวมถึงการบริโภคอาหารไขมันสูง ซึ่งถือเป็นอาหารก่อมะเร็ง
“ปวดท้อง” อาการแฝงที่อาจไม่ใช่แค่โรคกระเพาะ
อาการเตือนที่บอกว่าคุณอาจเสี่ยงมะเร็งรังไข่ คืออาการท้องอืดเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะใกล้เคียงกับอาการโรคกระเพาะ ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยถูกสงสัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กว่าจะเข้ารับการรักษาได้ตรงจุดก็อาจเป็นระยะลุกลามแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรละเลย ก็คือการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะหากตรวจพบว่ามีก้อนรังไข่โตในระยะแรกเริ่ม การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่าและโอกาสหายขาดก็สูงกว่าเช่นกัน
การตรวจวินิจฉัย “มะเร็งรังไข่” มีวิธีใดบ้าง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ คุณหมอจะต้องทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูกส่วนใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้นๆ โดยใช้วิธีการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (ultrasound) แต่ในบางกรณีที่ต้องการประเมินอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้องอาจมีการส่งตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI
“มะเร็งรังไข่” ถ้ารู้เร็ว…ก็รักษาได้ทัน!
หลังผ่าตัดส่วนใหญ่ผู้ปวยจะอยู่โรงพยาบาล 4-5 วัน หลังจากนั้นสูตินรีแพทย์จะทำการตัดมดลูก, ปีกมดลูกรังไข่ทั้ง 2 ข้าง, เก็บน้ำในช่องท้อง, ตัดไขมันบริเวณลำไส้, เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและด้านข้างเส้นเลือดแดงใหญ่ในท้อง เพื่อดูว่ามีมะเร็งกระจายไปที่ใดบ้างที่อาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง การรักษาก็จะจบแค่การผ่าตัด แต่ถ้าเป็นมากกว่านั้นก็จะต้องมีการให้ยาเคมีบำบัดต่อทันที
การให้ยาเคมีบำบัด..เสี่ยงต่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
ในการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ภาวะซีด, การติดเชื้อเพราะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือการมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวยาที่ช่วยลดอาการจากผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
“ผมร่วง” อีกหนึ่งผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด
สำหรับผู้หญิงเรา..การต้องเผชิญกับภาวะผมร่วงอาจทำใจได้ยาก ซึ่ง พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช เปิดเผยว่า.. “ภายหลังสิ้นสุดการรักษาและไม่ต้องให้ยาแล้ว ผมจะสามารถกลับมางอกงามได้เหมือนเดิมค่ะ ระหว่างนี้ก็ถือว่าทรงผมแบบไหนที่เราคิดจะทำหรืออยากทำ ก็ลองซื้อวิกผมแบบใหม่ๆ มาลองตอนนี้ ถือว่าเราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องพยายามคิดบวกเอาไว้มากๆนะคะ”
“มะเร็งรังไข่” ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้การป้องกันที่ดีที่สุด คือ “การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี” เพราะในผู้ป่วยระแยะแรกเริ่มมักไม่แสดงอาการ กว่าจะมีอาการบ่งชี้ก็อาจสายเกินจะรักษาได้ทัน เพราะฉะนั้น การ Screening ที่คุณเคยคิดว่าไม่สำคัญ จริงๆ แล้วคุณกำลังคิดผิด!!