ชอบ “ท้องผูก” มาตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักกันดีกว่า..

ชอบ “ท้องผูก” มาตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักกันดีกว่า..

การตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเป็นการตรวจสำหรับผู้ป่วยท้องผูกหรือมีความผิดปกติของการกลั้นอุจจาระ เพื่อหาความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูด การรับความรู้สึกของทวารหนัก และการตอบสนองของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักขณะขมิบก้นหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ

รู้ไหม? ลำไส้ส่วนปลายและหูรูดทวารหนัก..มีการทำงานอย่างไร

ลำไส้ส่วนปลายและหูรูดทวารหนักประกอบด้วยกล้ามเนื้อพิเศษ ซึ่งทำงานประสานกันเพื่อทำหน้าที่ในการขับถ่ายอุจจาระ โดยปกติเมื่ออุจจาระผ่านลงมาในทวารหนัก ลำไส้ส่วนปลายจะบีบตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมและต้องการถ่ายอุจจาระกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะคลายตัวเพื่อให้อุจจาระเคลื่อนผ่านออกมาได้ ในทางตรงกันข้าม…ขณะที่ยังไม่ต้องการถ่าย กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะทำการหดรัดตัวเพื่อป้องกันการถ่ายอุจจาระ หากกล้ามเนื้อหูรูดอ่อนแรงหรือไม่สามารถหดรัดตัวไว้ได้ หรือการรับความรู้สึกบริเวณทวารหนักผิดปกติไป ก็จะส่งผลให้อุจจาระเล็ดหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ตามมา

การตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักบอกอะไรได้บ้าง

การตรวจนี้จะทำให้ทราบถึงกลไกการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ตลอดจนวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูด การคลายตัวของหูรูดทวารหนักระหว่างการถ่ายอุจจาระและการรับความรู้สึกของทวารหนัก มีประโยชน์ในการรักษาโรคท้องผูกเรื้อรังชนิดที่เกิดจากการเบ่งอุจจาระไม่ถูกต้องหรือเกิดจากการเกร็งตัวหรือไม่คลายตัวของหูรูดทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระและโรคกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ 

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  • ทำการสวนอุจจาระหนึ่งครั้ง 2 ชั่วโมงก่อนนอน และทำการสวนอุจจาระเช้าวันที่ทำการตรวจอีกหนึ่งครั้ง 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  • สามารถรับประทานยาได้ตามปกติแต่รับประทานก่อนการตรวจอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ปัสสาวะก่อนเข้ารับการตรวจ
  • แจ้งต่อแพทย์และเจ้าหน้าที่หากแพ้สารลาแทกซ์ (latex)

ขั้นตอนการตรวจการทำงานของลำไส้ส่วนปลายและกล้ามเนื้อหูรูดทวาร

การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจึงไม่จำเป็นต้องค้างที่โรงพยาบาล โดยก่อนตรวจผู้ป่วยอาจถูกขอให้ทำการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล และซักประวัติสั้นๆ ก่อนเริ่มการตรวจ ระหว่างตรวจผู้ป่วยจะอยู่ในท่านอนตะแคง สายตรวจขนาดประมาณหลอดนมกล่องซึ่งมีลูกโป่งขนาดเล็กอยู่ที่ส่วนปลายจะถูกสอดเข้าไปในทวารหนักลึกประมาณ 5 เซนติเมตร จะมีการใส่น้ำเข้าไปในลูกโป่งดังกล่าวเพื่อดูการตอบสนองของทวารหนักและตรวจวัดความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลาย สายอีกด้านจะต่อเข้ากับเครื่องวัดแรงดัน ระหว่างตรวจผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือ ทำการขมิบ คลาย และเบ่งเป็นระยะๆ เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด หลังการตรวจผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมได้ตามปกติ   นอกจากนี้อาจมีการตรวจเพิ่มเติมอีกสองชนิด ประกอบด้วยการตรวจเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ (colonic transit study) และการจับเวลาเบ่งลูกโป่งออกจากทวารหนัก

  • การตรวจเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่

เป็นการตรวจเพื่อประเมินการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่โดยรวม ผู้ป่วยจะกลืนสารทึบรังสีที่ไม่ดูดซึมและไม่มีพิษต่อร่างกาย หลังจากนั้นจะทำการถ่ายภาพรังสีบริเวณท้อง (x-ray) หลังจากนั้นอีก 3 วัน และ5 วัน เพื่อดูการเคลื่อนตัวของสารดังกล่าว ซึ่งเปรียบเสมือนดูการเคลื่อนตัวของอุจจาระในลำไส้ว่าเร็ว-ช้าเพียงใด ผู้ป่วยจะได้รับการถ่ายภาพรังสี (x-ray) เพียง 2 ภาพดังนั้นการรับปริมาณรังสีจึงนับว่าต่ำมาก

  • การจับเวลาเบ่งลูกโป่งออกจากทวารหนัก

ในการทดสอบการเบ่งไล่ลูกโป่งน้ำออกจากทวารหนัก เจ้าหน้าที่จะทำการใส่ลูกโป่งขนาดเล็กเข้าไปในทวารหนัก จากนั้นจะใส่น้ำปริมาณ 50 มิลลิลิตรเข้าไป เพื่อให้ลูกโป่งขยายตัว ต่อจากนั้นจะให้ผู้ป่วยเบ่งคล้ายการเบ่งถ่ายอุจจาระในห้องน้ำ  แล้วจับเวลาที่ใช้ในการเบ่งเอาลูกโป่งออก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจ

การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด มีความเสี่ยงน้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้คือ “เลือดออก” โดยส่วนใหญ่เกิดจากริดสีดวงทวาร ซึ่งไม่รุนแรงและแก้ไขได้

หากพบความผิดปกติ..นี่คือวิธีการรักษาที่ถูกต้อง!

ความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายดังกล่าวไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาระบาย แต่สามารถให้การรักษาได้ด้วยวิธีฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายและการปรับการรับความรู้สึกในทวารหนักให้เป็นปกติ (biofeedback therapy) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการควบคุมกล้ามเนื้อดังกล่าวให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง ทำให้อาการท้องผูกและการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ดีขึ้น


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...