อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ความผิดปกติที่เกิดจากเส้นประสาทเส้นที่ 7 ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานกล้ามเนื้อแสดงสีหน้า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการใบหน้าอ่อนแรง ตาปิดไม่สนิท เคืองตา หรือยักคิ้วไม่ขึ้น โดยภาวะความผิดปกตินี้สามารถรักษาให้หายได้…หากผู้ป่วยรีบพบแพทย์ก่อนระยะโรคลุกลามรุนแรง
หน้าเบี้ยวครึ่งซีก สัญญาณร้ายที่ใครๆ ก็เป็นได้
อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนี้ เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ตามสถิติส่วนใหญ่พบในหญิงอายุน้อยมากกว่าชาย แต่หากอายุมากกว่า 40 ปีจะพบในชายมากกว่า ในหญิงตั้งครรภ์พบมากกว่ากลุ่มอื่นประมาณ 3 เท่า และพบได้มากขึ้น 4-5 เท่าในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หากมีอาการผิดปกติแบบนี้..ควรรีบพบแพทย์ !
ผู้ป่วยมักแสดงอาการค่อนข้างเร็ว บางรายเป็นแบบเฉียบพลัน เช่น ตื่นเช้ามาพบว่าใบหน้าครึ่งซีกอ่อนแรงรู้สึกตึงหนักใบหน้าซีกนั้น เวลาบ้วนน้ำหรือน้ำลายจะไหลออกมาทางมุมปากข้างนั้น ตาข้างนั้นปิดได้ไม่สนิท เคืองตา ยักคิ้วไม่ขึ้น บางรายปวดบริเวณหลังหู อาจรู้สึกมีเสียงก้องๆในข้างหูข้างที่เป็น และอาจพบความผิดปกติของการรับรสของลิ้นส่วนหน้าซีกที่เป็น อาการจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละราย ส่วนใหญ่มักมีอาการมากขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกจนถึง 1-3 วันแรก แต่บางรายอาจมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ถึง 14 วัน
อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มีสาเหตุมาจากอะไร
ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เชื่อว่าเป็นการอักเสบของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางรายเกิดจากการติดเชื้อเริมที่แฝงอยู่ในปมประสาท ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดและอาจมีตุ่มใสบริเวณรูหูส่วนนอกนำหน้ามาก่อน
นอกจากนี้อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังอาจเกิดก้อนในสมองหรือในโพรงกะโหลกศีรษะโต แล้วกดเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรค
เพราะอาจร้ายแรงกว่าที่คิด การวินิจฉัยโรค…จึงสำคัญ!
เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายทางระบบสาทโดยละเอียด เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ รวมทั้งยังช่วยในการแยกผู้ป่วยที่มีอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนี้ออกจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมีลักษณะอาการหน้าเบี้ยวได้เหมือนกัน แต่อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วยและผู้ป่วยยังสามารถยักคิ้วข้างที่เบี้ยวได้
การตรวจเพิ่มเติมที่แพทย์อาจแนะนำ ได้แก่ การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท การกรวดน้ำไขสันหลัง การตรวจเอ็กซเรย์สมอง ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องทำในบางรายตามที่แพทย์เห็นสมควร
แนวทางการรักษา
- ยากลุ่มสเตียรอยด์ สามารถลดการอักเสบของเส้นประสาทได้ รับประทานประมาณ 2 สัปดาห์ รับประทานยาต่อเนื่องและจะมีการปรับลดขนาดยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ยาป้ายตา ยาหยอดตาและใช้ผ้าปิดตาสนิทขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันการเกิดเยื่อบุตาอักเสบเนื่องจากอาการกระพริบตาที่ลดลง
- ยาฆ่าเชื้อไวรัส พิจารณาให้ในรายที่เห็นว่ามีอาการความสัมพันธ์กับเชื้อเริมงูสวัด
- การทำกายภาพ ทำโดยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ใช้ในผู้ป่วยบางราย
ความรุนแรง..ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
- 80% ของผู้ป่วยมักจะหายดีในเวลา 4-6 สัปดาห์
- 10% ของผู้ป่วยจะมีอาการเบี้ยวที่ใบหน้าทั้งสองข้าง
- 7% ของผู้ป่วยจะเกิดเป็นซ้ำได้
อาจพบมีการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้า เกิดขึ้นเนื่องจากการงอกเกินหลังจากการซ่อมแซมเส้นประสาทของผู้ป่วยรายนั้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จำเป็นต้องคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากยาสเตียรอยด์จะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงจนเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยควรทำการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าโดยการ ยักคิ้ว ปิดตาแน่น ยิงฟัน เป่าแก้มป่อง
- หากมีอาการอื่นเพิ่มเติมทางระบบประสาท เช่น หน้าชา การได้ยินลดลง อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หรือมีอาการชาปลายมือ เท้า 2 ข้าง พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เดินเซ ซึมลง สับสน อาการลามเป็นมากขึ้นทั้งสองข้าง ควรพบแพทย์เร็วขึ้น