ปวดศีรษะ มีไข้ ไอมีเสมหะ ระวัง! คุณอาจกำลังเสี่ยงเป็น “โรคปอดอักเสบ”

ปวดศีรษะ มีไข้ ไอมีเสมหะ ระวัง! คุณอาจกำลังเสี่ยงเป็น “โรคปอดอักเสบ”

 

ปอดอักเสบ เป็นโรคติดต่อที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่มักแพร่ระบาดหนักในช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากเป็นช่วงที่คนป่วยเป็นไข้หวัดกันเยอะ มีภูมิต้านทานลดน้อยลง ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โดยมากคนมักติดโรคจากการได้รับเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่น ดังนั้น โรคนี้จึงมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด

 

โรคปอดอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ปอดอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า เชื้อที่ว่านั้นมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ซึ่งผู้ป่วยจะรับเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากหายใจเอาเชื้อโรคเข้ามาในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการของโรคก็จะแสดงออกมา ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยคนที่มีโรคประจำตัวหรือป่วยเป็นโรคอื่นร่วมด้วย มักมีแนวโน้มที่อาการจะรุนแรงกว่าผู้ที่มีสภาพร่างกายแข็งแรงปกติ

 

อาการบ่งชี้ของโรคปอดอักเสบ

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. กลุ่มที่มีอาการชัดเจน อาการจะปรากฏภายในระยะเวลา 1-2 วัน และอาการจะแย่ลงเร็ว มีอาการไข้ หนาวสั่น ไอมีเสมหะสีเขียว สีเหลืองหรือไอมีเลือดปน เหนื่อยหอบและหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาไอ หรือหายใจเข้า-ออกลึกๆ

2. กลุ่มที่มีอาการไม่ชัดเจน อาการจะค่อยเป็นอย่างช้าๆ และใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนที่จะปรากฏอาการปอดอักเสบอย่างชัดเจน บางคนมีอาการคล้ายไข้หวัด จะมีไข้ต่ำๆ หรือ ไม่มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดตามข้อ อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

 

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ…เหมาะกับใครบ้าง ?

1. ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี

2. ผู้มีอายุ 2-65 ปี

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติจากยา เช่น สเตียรอยด์ ยากดภูมิ ยาต้านมะเร็งบางชนิด ได้รับการฉายรังสี หรือเป็นจากตัวโรคเอง เช่น โรคไตวาย มะเร็ง ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก หรือ ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่มีปัญหาโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง สภาวะที่มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง ได้รับการปลูกถ่าย cochlear

3. ผู้มีอายุ 19-64 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือเป็นโรคหืด

 

การปรับพฤติกรรม…อีกวิธีป้องกัน “โรคปอดอักเสบ”

  1. พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  2. รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ และอาหารเสริมสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ
  3. ไม่ควรสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  4. เด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิดและคอยระวังไม่ให้เด็กสำลัก ควรแยกของเล่นชิ้นเล็กๆ ออกห่างจากมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำเข้าปาก
  5. เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด สุกใส ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ หากมีอาการไม่ดีขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

 

โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากเราดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำแพงป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...