โรคฝีคัณฑสูตรผ่าตัดหายได้...ไม่ต้องตัดหูรูด

พญาไท 2

1 นาที

27/03/2020

แชร์


Loading...
โรคฝีคัณฑสูตรผ่าตัดหายได้...ไม่ต้องตัดหูรูด

ฝีคัณฑสูตร หรือ ฝีขอบก้น เป็นโรคที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่แท้จริงแล้วเป็นโรคที่พบได้บ่อยไม่แพ้โรคทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักอื่นๆ แม้อาการของโรคในระยะเริ่มต้นจะไม่รุนแรงนัก แต่ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานไม่น้อย คนไข้ส่วนใหญ่มักรู้สึกอาย ไม่กล้ามาพบแพทย์ เพราะเข้าใจผิดว่าโรคนี้เกิดจากความสกปรก ซึ่ง นายแพทย์ธีรสันติ์ ตันติเตมิท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้ความรู้และอธิบายถึงเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับฝีคัณฑสูตรว่า..

 

“ปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีต่อมผลิตเมือก (Anal glands) ประมาณ 8-10 ต่อม ซึ่งอยู่บริเวณรอบๆ ขอบทวารหนักถัดจากปากทวารหนักเข้ามาประมาณหนึ่งเซนติเมตร หากต่อมเหล่านี้เกิดการอุดตันและอักเสบติดเชื้อจะกลายเป็นฝีหลบใน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิน 50% ฝีจะไม่สามารถแตกออกมาเองได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดฝีออก สาเหตุของการเกิดฝีคัณฑสูตรไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายก็คล้ายกับการเป็นสิวหรือไส้ติ่งอักเสบที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันโดยไม่มีอาการบ่งชี้ล่วงหน้า แต่การขับถ่ายบ่อยและใช้กระดาษเช็ดก้นแรงจนระคายเคืองบริเวณรูทวารหนักก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคฝีคัณฑสูตรได้”

อาการเบื้องต้น..เสี่ยงโรคฝีคัณฑสูตร

คนไข้มักมีอาการขอบทวารหนักบวมและเจ็บปวดบริเวณรอบๆ รูทวารหนักตลอดเวลา แม้ช่วงที่ไม่ได้ขับถ่ายก็รู้สึกปวด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีฝีคัณฑสูตรอยู่ภายในรูทวาร ผู้ป่วยมักปวดมากขึ้นขณะเบ่งถ่าย บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย หรือมีน้ำเหลืองซึมออกมาในกรณีที่เป็นฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคฝีคัณฑสูตร

ในผู้ที่ขับถ่ายบ่อยวันละ 3-4 ครั้ง มักมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคฝีคัณฑสูตรมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากต่อมผลิตเมือกของผู้สูงอายุจะฝ่อไปตามวัย อีกทั้งกล้ามเนื้อหูรูดก็ไม่ตึงเหมือนคนวัยหนุ่มสาว โอกาสเกิดการบาดเจ็บจึงน้อยลง โรคนี้พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ผู้ชายมักมีอาการของโรคที่ซับซ้อนกว่าเพราะกล้ามเนื้อหูรูดมีความแข็งแรงมากกว่า

 

สำหรับผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานไม่สมบูรณ์ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคภูมิต้านทานบกพร่อง หรืออายุมาก หากเป็นโรคฝีคัณฑสูตรจะอันตรายเป็นพิเศษ เพราะฝีอาจลุกลามไปถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมากจนต้องมาโรงพยาบาลก่อนอาการจะรุนแรงถึงขั้นนั้น

โรคฝีคัณฑสูตร Vs โรคริดสีดวงทวาร (รักษา)ต่างกันนะ

หากเป็นโรคริดสีดวงทวาร โอกาสที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดจะอยู่ที่ประมาณ 10% เนื่องจากสามารถรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม รัดยาง หรือฉีดยาได้ แต่หากเป็นโรคฝีคัณฑสูตรและต้องการรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยควรเข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการดีที่สุด

เรื่องที่ผู้ป่วยโรคฝีคัณฑสูตรมักกังวล..

  1. กลัวไม่หายขาดต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง เนื่องจากรูที่หนองแตกออกปิดไม่สนิททำให้มีช่องต่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง
  2. กลัวกลั้นอุจจาระไม่อยู่หลังผ่าตัด เนื่องจากถูกตัดกล้ามเนื้อหูรูดออกมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีคัณฑสูตรระยะเรื้อรังบางรายจึงหลีกเลี่ยงการมาพบแพทย์ ทำให้ต้องทนกับอาการเจ็บปวดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานประมาณ 15 ปีขึ้นไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ทางที่ดีผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

ผ่าตัดรักษาโรคฝีคัณฑสูตร…ช่วยลดปัญหาที่กังวล

  • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม แพทย์จะตัดหูรูดทวารหนักเล็กน้อยเพื่อเปิดทางให้หนองในฝีออกมาจนหมด วิธีนี้จะทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคฝีคัณฑสูตรประมาณ 90-100% แต่จะมีผลข้างเคียงคือหากแพทย์ไม่ชำนาญการและตัดหูรูดออกเยอะเกินไป คนไข้อาจประสบปัญหาเรื่องการกลั้นอุจจาระลำบากหลังการผ่าตัดได้
  • การผ่าตัดแบบไม่ตัดรูหูด หรือที่เรียกว่าเทคนิค LIFT (Ligation of intersphincteric fistula tract technique) วิธีนี้จะทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคฝีคัณฑสูตรประมาณ 80-85% และมีข้อดีคือประสิทธิภาพในการกลั้นอุจจาระจะไม่แตกต่างจากก่อนการผ่าตัดอย่างแน่นอน โดยระยะเวลาในการผ่าตัดอยู่ที่ราวๆ 30-90 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของตำแหน่งฝี

 

นายแพทย์ธีรสันติ์ แนะนำว่า “แม้ศัลยแพทย์ทั่วไปจะสามารถทำหัตถการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรได้ แต่หากต้องการได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมตรงจุดที่สุด ควรเลือกพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักโดยตรงจะดีกว่า เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางจะผ่านประสบการณ์ผ่าตัดมาหลายเคสและเข้าใจลักษณะของโรคฝีคัณฑสูตรอย่างลึกซึ้งครอบคลุมรอบด้าน จึงสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรณีที่คนไข้เคยผ่าตัดมาแล้ว 2-3 ครั้งแต่ยังไม่หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก่อนในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น”

 

ในส่วนของขั้นตอนการผ่าตัดนั้น คนไข้บางรายสามารถใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ แต่บางรายก็จำเป็นต้องฉีดยาเข้าไขสันหลัง (บล็อกหลัง) ก่อนการผ่าตัด แต่โดยรวมแล้วความเจ็บปวดในการผ่าตัดถือว่าค่อนข้างน้อยกว่าการผ่าตัดริดสีดวง หากผ่าตัดแบบไม่ตัดหูรูด (เทคนิค LIFT) แผลจะหายเร็วกว่าและใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 อาทิตย์ก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ส่วนการผ่าตัดแบบดั้งเดิมจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการก้นแฉะอยู่ประมาณหนึ่งเดือนเนื่องจากมีน้ำเหลืองซึมออกมา

 

โอกาสในการกลับมาเป็นโรคฝีคัณฑสูตรซ้ำขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้และความซับซ้อนของโรค ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าทางหนึ่งที่พอจะช่วยได้คือการดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพักฟื้นให้แผลหายดีก่อนแล้วจึงค่อยกลับไปทำงานตามปกติ

 

นพ. ธีรสันติ์ ตันติเตมิท
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ศูนย์โรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลพญาไท 2

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...