ความเข้าใจเดิมเมื่อพูดถึงปัญหาช่องคลอดแห้ง เรามักนึกถึงความเหี่ยวแห้งจากการขาดฮอร์โมนในหญิงวัยหมดระดูหรือหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ภาวะช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง หรือที่เรียกว่า Vulvovaginal atrophy (VVA) นั้น พบได้บ่อยกว่านั้น แต่มักไม่ได้รับการรายงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เนื้อเยื่อช่องคลอดลดลง และพบว่าสามารถเกิดกับผู้หญิงได้ทุกวัยในช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อมีการขาดเอสโตรเจน โดยร้อยละ 50 พบในหญิงวัยหมดระดู
อาการของภาวะช่องคลอดแห้งมีอะไรบ้าง?
- รู้สึกร้อนๆ แสบแห้ง ระคายเคืองในช่องคลอด
- ขาดน้ำหล่อลื่น และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อย รู้สึกร้อนๆ แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ช่องคลอดอักเสบ เป็นตกขาวบ่อย เป็นๆ หายๆ และหายยาก เนื่องจากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกติช่องคลอดจะมีผิวชุ่ม หนาและมีลูกคลื่น พอเข้าวัยทองจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ผนังบาง ความยืดหยุ่นลดลง เลือดมาเลี้ยงบริเวณช่องคลอดลดลง การหลั่งน้ำหล่อลื่นลดลง ภาวะความเป็นกรดลดลง กลายเป็นสภาวะด่างมากขึ้น เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ร่วมกับเซลล์ที่ผนังช่องคลอดลอก ทำให้ช่องคลอดมีความเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่แบคทีเรียชนิดดี lactobacilli ที่คอยปกป้องช่องคลอดนั้นอยู่ไม่ได้ ทำให้มีการเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่ายและบ่อย
สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน
เมื่อผู้ป่วยมาตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน เราจะพบอาการดังนี้
- ช่องคลอดมีสีซีด แห้ง อาจพบจุดเลือดออก ลูกคลื่นของช่องคลอดหายไป ปากมดลูกอาจแบนแนบไปกับช่องคลอด
- หากต้องการวินิจฉัยให้ชัดเจนขึ้น สามารถตรวจภาวะกรดด่าง จะพบความเป็นด่าง โดยค่า pH จะมากกว่าหรือเท่ากับ 4.6
- เมื่อตรวจปัสสาวะ มักพบมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน (ในสตรีวัยหมดระดู เมื่อตรวจสุขภาพประจำปี ผลตรวจปัสสาวะมักมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน หากได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคของทางเดินปัสสาวะไปแล้ว ก็มักจะเป็นจากภาวะช่องคลอดแห้ง)
สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลงตามวัย ซึ่งในวัยก่อนหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ที่ 10-800 pg/ml ปริมาณแตกต่างตามระยะของรอบระดู แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมักน้อยกว่า 30 pg/ml และแหล่งของเอสโตรเจนจะมาจากเอสโตรเจนชนิด E1 มากกว่า ซึ่งถูกเปลี่ยนมาจากส่วนของไขมันที่สะสมบริเวณท้องแขน ต้นขา และพุงหรือหน้าท้อง
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยา ได้แก่
- การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง ในบางรายส่งผลให้รังไข่ทำงานล้มเหลว เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และพบปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้งตามมา มีการเก็บข้อมูลพบปัญหานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่านการให้ยาเคมีบำบัด ร้อยละ 23-61
- การให้ยาซึ่งมีกลไกต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำช็อกโกแลตที่รังไข่ (เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งพบที่รังไข่) การฉีดยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด ซึ่งอาจพบปัญหาช่องคลอดแห้งตามมาได้
การวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ในช่องคลอด จากภาวะช่องคลอดแห้ง
การวินิจฉัยแยกโรคอื่นนอกจากภาวะช่องคลอดแห้ง จำเป็นต้องพิจารณาเสมอก่อนการให้การรักษา เนื่องจากรักษาแตกต่างกัน
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งอาจมีอาการแสบร้อน คัน ปัสสาวะขัดร่วมด้วย นอกจากการมีตกขาว
- ระคายเคืองช่องคลอดจากการแพ้สบู่ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือชุดชั้นในที่สวมใส่ หรือแผ่นอนามัย
- ผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด
- ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งช่องคลอด ปากช่องคลอด ซึ่งจะมีอาการแห้ง คัน ระคายเคืองเรื้อรังได้ ดังนั้น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยก่อนเสมอ
การรักษาช่องคลอดแห้ง
- รักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
- การรับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น เหมาะสำหรับกรณีรักษาอาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ผลทางคลินิกในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันกระดูกพรุน (ในกรณีไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน) แต่ได้ผลช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งไม่เต็มที่นัก ร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยยังมีอาการช่องคลอดแห้งอยู่
- การทายาฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอด ซึ่งเป็นเอสโตรเจนระดับฮอร์โมนน้อยๆ มีการศึกษาของสมาคมวัยทองแห่งสหรัฐอเมริกา The North American Menopause Society (NAMS) ปี ค.ศ. 2007 พบว่าได้ผลดีในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด ครีม วงแหวน สอดช่องคลอด ในปัจจุบัน การใช้ฮอร์โมนแม้ในขนาดต่ำๆ ทาในช่องคลอด ก็มีการศึกษาพบว่าทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดเพิ่มด้วยเช่นกัน จึงต้องระมัดระวังในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจมีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ยังมีการศึกษาต่อเนื่องในการคิดค้นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงที่ช่องคลอด โดยไม่ส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ
- รักษาด้วยการใช้สารให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ใช่ฮอร์โมน หรือที่เราเรียกกันว่า moisturizer เหมือนกับการใช้ moisturizer ที่ทาผิวแห้งตามร่างกาย มีทั้งรูปแบบน้ำ เจล หรือเม็ดสอดช่องคลอด ซึ่งสามารถใช้ได้ยาวนาน ไม่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน มีคุณสมบัติเคลือบปกป้องผิวช่องคลอดให้ชุ่มชื้น โดยใส่ในช่องคลอดทุกๆ 2-3 วัน
- การใช้เจลหล่อลื่น สำหรับกรณีปัญหาหลักอยู่ที่การเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถใช้เจลหล่อลื่นเฉพาะขณะมีกิจกรรม โดยทาบริเวณช่องคลอด ปากช่องคลอด หรืออวัยวะเพศชายก็ได้
- การให้วิตามินกับอาหารเสริม ยังไม่มีการศึกษาพิสูจน์ชัดเจนถึงการใช้ วิตามิน E และวิตามิน D ว่าได้ผลในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง
- การใช้เลเซอร์ชนิด Fractional CO2 ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ในการใช้เลเซอร์ในการรักษาแบบฟื้นฟู โดยเครื่องจะปล่อยแสงเลเซอร์ออกมาแบบ 360 องศา ไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสท์ ช่วยทำให้ผลิตและจัดเรียงเส้นใยคอลลาเจนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เซลล์ช่องคลอดผลิตสารคัดหลั่งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความชุ่มชื้นขึ้นตามมา ซึ่งสามารถทำเลเซอร์ได้โดยไม่เจ็บ ไม่ต้องดมยาสลบ และใช้เวลาไม่นาน หลังทำสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ
ปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง อาจฟังดูเหมือนผิวแห้ง แต่เมื่อเกิดบริเวณช่องคลอดแล้วจะส่งผลต่อหลายระบบ เนื่องจากผนังช่องคลอดรองรับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะด้วย จึงทำให้มีอาการทั้งแห้ง ระคายเคือง แสบร้อน ปัสสาวะขัด และรวมถึงกิจกรรมกับสามี ดังนั้น หากมีอาการควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรค และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป