ลิ้นหัวใจรั่ว คืออะไร?
ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ คนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจะใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ เพราะจะทำให้เหนื่อยง่าย บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว
รศ.นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ รพ.พญาไท 1 กล่าวถึงโรคลิ้นหัวใจรั่วไว้ว่า
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
มีสาเหตุหลักๆ มาจากความผิดปกติของหัวใจที่มีความบกพร่องตั้งแต่กำเนิด เช่น โครงสร้างของลิ้นหัวใจผิดปกติ หรืออาจมีสาเหตุที่เกิดจากโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติได้
อาการที่พบบ่อยในโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- เจ็บหน้าอก
- วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบากเมื่อออกแรง
- เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้
- ไอ มีเสมหะปนเลือด
- เท้าบวม ขาบวมกดบุ๋ม ท้องมาน
เราสามารถสังเกตได้จากอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากมีอาการดังกล่าวเหล่านี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยทันที
การตรวจหาโรคลิ้นหัวใจรั่ว
ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถทำได้โดย การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจด้วยอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยอุปกรณ์จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปและจำลองภาพของหัวใจ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจได้ หากพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
- ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยเสริมการทำงานของหัวใจให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนี้
- การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือ Vale Repair ทำเพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ ซึ่งสามารถทำได้บางรายเท่านั้น
- การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือ Valve Replacement หากลิ้นหัวใจไม่สามารถกลับมา ทำงานตามเดิมได้อีก ก็จะต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งมี 2 ชนิดคือ
- ลิ้นโลหะ ซึ่งคงทนตลอดชีวิตคนไข้ แต่มีข้อด้อยคือ ต้องกินยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย เช่น Warfarin และต้องกินยาตลอดชีวิต
- ลิ้นเนื้อเยื่อ ใช้ได้ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเหมาะกับคนไข้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
สิ่งสำคัญในการรักษาไม่ว่าจะเป็นการซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็คือ ความพร้อมของเทคโนโลยี อุปกรณ์ รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1