โรคต้อลมเป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ จึงนับเป็นโรคสำคัญโรคหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ เมื่อสงสัยให้รีบไปตรวจรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้ลุกลาม เพราะสุดท้ายแล้วการมองเห็นจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งจะสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้
ต้อลม (Pinguecula) คืออะไร
ต้อลมเกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว ตัวต้อจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาวหรือเหลือง อยู่บริเวณเยื่อบุตาขาว มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา หากไม่ได้รับการป้องกันอย่างถูกต้องอาจลุกลามใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผ่นเนื้อเข้ามาในบริเวณกระจกตาดำ เมื่อถึงขั้นนั้นจะเรียกโรคนี้ว่า “ต้อเนื้อ”
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต้อลม
การเกิดต้อลมมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเดียวกันกับโรคต้อเนื้อ คือเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น และมักเกิดกับผู้ที่ทำงานกลางแจ้งที่โดนทั้งลม แดด และฝุ่นละออง หรือผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโลหะ โดยโรคต้อลมหรือแม้แต่ต้อเนื้อจะพบมากในประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากแสงแดดจะมีความร้อนมากกว่าและมีรังสีอัลตราไวโอเลตสูงกว่าแถบอื่นๆ ของโลก
อาการของโรคต้อลม
- เริ่มต้นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่จะเกิดความผิดปกติของเยื่อบุตาดังที่กล่าวมา
- กรณีต้อลมมีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงในตำแหน่งของต้อลมร่วมด้วย เนื่องจากมีการอักเสบขยายตัวของเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงตาบริเวณต้อลม
การรักษาและการป้องกันโรคต้อลม
- ควรใส่แว่นกันแดดและกันลมเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง
- จักษุแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบของต้อลม
- ต้อลมไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เนื่องจากมีขนาดเล็ก ไม่ส่งผลต่อการมองเห็น
แม้โรคต้อลมจะไม่อันตรายและรักษาได้ง่าย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจลุกลามเข้าตาดำกลายเป็นต้อเนื้อได้ ดังนั้นจึงควรรีบรักษาและหาทางป้องกันไม่ให้ลุกลามตามคำแนะนำของจักษุแพทย์