ต้อหิน (glaucoma)
ต้อหินคือโรคที่มีความเสื่อมของขั้วประสาทตา โดยตาในจอตาจะถูกทำลายหรือเสื่อมไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ลานสายตาผิดปกติ สูญเสียการมองเห็นถึงขั้นตาบอดได้
กลไกการเกิดต้อหิน
ต้อหินเกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ทำให้เกิดความดันลูกตาที่สูงขึ้นผิดปกติ และเกิดการทำลายของเซลล์ประสาทตาในจอตา
ปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหิน
- ความดันลูกตาสูง
- มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติโรคต้อหินของคนในครอบครัว
- การใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- ได้รับอุบัติเหตุทางตา
- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง เบาหวาน ไมเกรน
ประเภทของต้อหิน
ต้อหินมีหลากหลายประเภท เช่น ต้อหินมุมเปิด ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ต้อหินตั้งแต่กำเนิด ต้อหินทุติยภูมิ
อาการของโรคต้อหิน
- ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ
- ปวดตา ตาแดง สู้แสงไมได้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ พบได้ในผู้ที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน
การวินิจฉัยโรคตาต้อหิน
- การตรวจตาด้วย slit-lamp microscopy
- การตรวจวัดความดันภายในลูกตา
- การตรวจลักษณะมุมตา
- การตรวจลักษณะของขั้วสารประสาทตา และวัดความหนาของเส้นประสาทตา ด้วยเครื่อง Optical coherence tomogram (OCT)
- การตรวจลานสายตา
การรักษาต้อหิน
เนื่องจากโรคต้อหินเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการทำลายเส้นประสาทตาอย่างถาวร ยังไม่มีการรักษาวิธีใดที่ทำให้โรคต้อหินหายขาดได้ การรักษาในปัจจุบันจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น และเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
- การรักษาด้วยยา เพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น
- การใช้เลเซอร์ เพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น
- การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันตา หรือใส่เครื่องมือชนิดพิเศษเป็นท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางสายตาหรือรู้สึกมีความผิดปกติในการมองเห็นควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อค้นหาและป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้น