วัณโรค เป็นได้...ก็หายได้ สังเกตอาการให้ไว แล้วรีบไปพบแพทย์

พญาไท 2

1 นาที

พฤ. 26/03/2020

แชร์


Loading...
วัณโรค เป็นได้...ก็หายได้ สังเกตอาการให้ไว แล้วรีบไปพบแพทย์

วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่พบว่าเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตในคนทั่วโลก วัณโรคเกิดจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดวัณโรคปอด แต่ยังส่งผลให้เกิดวัณโรคกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น โชคดีที่ว่าวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว

 

 

เชื้อวัณโรคติดต่อได้ผ่านการหายใจ ไอ จาม

เชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจรับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศ ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย หรือขากเสมหะ เชื้อวัณโรคจะกระทบไปในอากาศหรือกระจายอยู่ตามวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัว ผู้ร่วมอาศัย รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเอดส์ ควรระมัดระวัง และรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองวัณโรคว่าได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?

 

 

อาการของผู้ป่วยวัณโรค มีอะไรบ้าง ?

อาการวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

  • ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ จะก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจนได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
  • ระยะแสดงอาการ (Active TB) ระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนทำให้แสดงอาการต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด หรือเบื่ออาหาร

 

กินยาให้ครบ… “วัณโรค” ก็หายได้

  • เป้าหมายสำคัญในการรักษาวัณโรค คือ การรักษาให้หายขาดเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อและเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค แม้ว่าวัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่มีวินัยในการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • การรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2 เดือนแรก แพทย์จะให้รับประทานยา 4 ชนิด คือ Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide และ Ethambutol หากผู้ป่วยดื้อยาอาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เมื่อรักษาครบ 2 เดือน แพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาให้เหลือเพียง 2 ชนิด และยังต้องให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน

 

 

รักษาวัณโรคล่าช้าหรือไม่ต่อเนื่อง…อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อเชื้อวัณโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น มีฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด ปวดหลัง ข้อต่อกระดูกอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต และหัวใจ เป็นต้น

 

ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยวัณโรค

  • กินยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนด
  • ผู้ป่วยควรแยกห้องนอนและหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นในช่วงแรกของการรักษา
  • ขณะไอหรือจามต้องใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด แล้วนำไปทิ้งในถังขยะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • ออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม
  • อยู่ในสถานที่หรือห้องที่มีลักษณะโปร่ง โล่ง มีหน้าต่างที่สามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก

ข้อควรหลีกเลี่ยงเมื่อป่วยเป็นวัณโรค

  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบจากการใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนในระหว่างรักษาวัณโรค เพราะจะทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล


วัณโรคป้องกันได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...