อาการชักที่เกิดจากไข้สูงในเด็ก โดยที่สาเหตุของไข้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อในสมอง ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ หรือจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และไข้ออกผื่น หรือการติดเชื้อจากไวรัสต่างๆ ซึ่งพบได้ร้อยละ 2-5 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 15 ปี
ลักษณะอาการชักจากไข้สูง
เมื่อเด็กเริ่มไม่สบาย โดยอาจมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย ซึมลง มีไข้สูง และชัก ลักษณะที่ชักคือตัวแข็งเกร็ง มือเท้ากระตุก ตาเหลือก กัดฟันแน่น น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว อาจมีอาเจียนหรือปัสสาวะ อุจจาระขณะที่กำลังชัก โดยอาการชักมักจะกินเวลาไม่เกิน 15 นาที แต่ในรายที่ชักอยู่นาน ใบหน้า ริมฝีปาก และมือเท้าจะเขียวจากการขาดออกซิเจน
การปฐมพยาบาลเด็กที่กำลังชัก
- จับให้นอนตะแคง ไม่หนุนหมอน หันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- ห้ามใช้ช้อนหรือวัตถุอื่นๆ หรือนิ้วมืองัดปาก และห้ามป้อนยาหรือน้ำทางปากในขณะที่เด็กไม่รู้สึกตัว
- เช็ดตัวด้วยน้ำจากก๊อกประปาหรือน้ำอุ่น ไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นหรือแอลกอฮอล์
- นำเด็กส่งโรงพยาบาลหรือรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าสาเหตุของการชักเกิดจากไข้สูง หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อในสมอง ซึ่งต้องรักษาที่ต้นเหตุด้วย
การปฐมพยาบาลเด็กที่มีไข้สูง เพื่อป้องกันการชัก
- ให้กินยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลได้ และให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ
- เช็ดตัวด้วยน้ำประปาหรือน้ำอุ่น
- ขณะเช็ดตัวควรปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ
- สำหรับวิธีการเช็ดตัว ควรถอดเสื้อผ้าออกให้หมดใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กชุบน้ำให้ชุ่มพอสมควร แล้วเช็ดชโลมให้ทั่วตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ลำตัว ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แขนและขา ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ขณะที่เช็ดตัวให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำที่บริเวณหน้าผาก รักแร้ และขาหนีบไว้ด้วย
- ถ้าปลายมือปลายเท้าเย็น ควรใช้น้ำอุ่นประคบ กรณีไข้ไม่ลดลงควรไปพบแพทย์
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะชักในเด็ก
- อาการชักจากไข้นี้ พบว่ามีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติชักจากไข้จะมีโอกาสชักจากไข้สูงกว่าเด็กที่ครอบครัวไม่มีประวัติชักจากไข้
- โดยทั่วไปแล้ว การชักจากไข้สูงไม่ได้ทำให้เกิดสมองพิการ เด็กจะมีความสามารถในการเรียนและสติปัญญา (IQ) เหมือนเด็กทั่วไป
- โดยทั่วไปแล้วโอกาสเกิดการชักซ้ำจากไข้ พบร้อยละ 30 และมักเกิดภายใน 2 ปีแรก
การป้องกันการชักซ้ำในเด็ก
เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ ให้กิรนยาลดไข้พาราเซตามอล และหมั่นเช็ดตัวลดไข้ แล้วจึงรีบไปพบแพทย์ ส่วนการให้ยากันชักอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล โดยผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจวิธีการบริหารยากันชักอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อการให้ยาอย่างถูกวิธี หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง