ถ้าคุณคลิกมาเจอหน้านี้ นั่นก็แสดงว่าคุณเองก็อาจกำลังไม่แน่ใจอยู่เหมือนกันใช่มั๊ยละ ว่ารู้จัก “โรคนิ่วในถุงน้ำดี” ดีพอแล้วหรือยัง วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ จาก นพ.สุจินต์ สุขะหุต ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ มาให้ความกระจ่างกันแบบครบสูตร ตั้งแต่สาเหตุ อาการ การรักษา รวมถึงเทคนิคการดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจาก “นิ่วในถุงน้ำดี”
ทำไม? คนเราต้องมี “ถุงน้ำดี”
นพ.สุจินต์ อธิบายถึงลักษณะและความสำคัญของถุงน้ำดีว่า “ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะชนิดหนึ่ง ที่อยู่บริเวณใต้ตับตรงชายโครงด้านขวา มีหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่สร้างมาจากตับ เวลาที่เราทานอาหารเข้าไป เมื่ออาหารนั้นตกลงสู่กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีก็จะทำหน้าที่บีบตัวเพื่อไล่เอาน้ำดีที่เก็บไว้ไปย่อยสลายไขมันให้เกิดการแตกตัวเป็นเม็ดเล็กๆ เพื่อให้น้ำย่อยจากตับอ่อนสามารถย่อยต่อจนอยู่ในขนาดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้”
“นิ่วในถุงน้ำดี” เกิดขึ้นได้อย่างไร
สำหรับหลายคนที่กำลังสงสัยว่านิ่วในถุงน้ำดีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เรามีคำตอบมาให้เพื่อเคลียความสงสัยกัน “นิ่วในถุงน้ำดีนั้นเกิดจากภาวะไม่สมดุลกันของสารที่อยู่ในน้ำดี ซึ่งสารที่อยู่ในน้ำดีนั้น ประกอบด้วย คอเลสเตอรอล ไบซอล และบิลลิรูบิน ซึ่งเมื่อเกิดความไม่สมดุล จะส่งผลให้สารเหล่านี้ตกตะกอนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้”
อาการเบื้องต้น จุดสังเกต “นิ่วในถุงน้ำดี”
นพ.สุจินต์ ให้เทคนิคในการสังเกตอาการเบื้องต้นไว้ว่า “อาการเบื้องต้นจะคล้ายๆ กับโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะปวดจุก แน่น บริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงด้านขวา และมักเป็นหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เช่น มื้อเย็น หรือบุฟเฟ่ต์ หมูกระทะ อาหารค่อนข้างมัน อาจรู้สึกเหมือนมีลมตีขึ้นมา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดร้าวไปที่สะบักหลังหรือตรงกลาง ซึ่งอาการจะเป็นอยู่ 15 นาทีหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป อาการจะคงอยู่ได้ข้ามคืน แต่ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเอง” นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไข้ส่วนใหญ่มักไม่ได้มาหาหมอในครั้งแรกด้วยอาการของนิ่วในถุงน้ำดี “ส่วนใหญ่จะเป็นอาการของโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ซึ่งเราจะมาตรวจพบได้ทีหลัง เมื่อได้รับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินอาหารหรือแพทย์ศัลยกรรม ในผู้ป่วยที่มีกลุ่มเสี่ยง แพทย์ก็จะอัลตร้าซาวน์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีได้”
“ใคร” คือกลุ่มเสี่ยงในการเกิดนิ่วที่ต้องระวัง
ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดในนิ่วในถุงน้ำดีมีอยู่หลายอย่าง เช่น อายุ เพศ และพฤติกรรมส่วนตัว “ผู้หญิงมีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีการสะสมของไขมัน พวกคอเลสเตอรอลที่เป็นส่วนประกอบของน้ำดีค่อนข้างเยอะ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุที่มีโรคไขมันในเลือดสูงก็มีโอกาสเจอนิ่วในถุงน้ำดีได้มากกว่าคนทั่วไปเช่นกัน รวมถึงคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นนิ่วในถุงน้ำดีก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ”
Lifestyle ที่ผิดๆ กระตุ้นการเกิด “นิ่วในถุงน้ำดี” ได้
นอกจากปัจจัยเรื่องของเพศหรืออายุแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่ออกกำลังกาย หรือการชอบกินของทอด ของมัน คุณหมอบอกว่าต่างก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ทั้งนั้น “ในน้ำดีมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอล ไบซอล และบิลลิรูบิน อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรายิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันเยอะ มีคอเลสเตอรอลมาก ทำให้ภาวะสมดุลของน้ำดีเปลี่ยนแปลงไป โดยคอเลสเตอรอลเหล่านั้นก็จะถูกกระตุ้นทำให้เกิดตะกอนเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการทานอาหารมัน หรือของทอดจึงมีส่วนในการเกิดนิ่วได้”
“ผ่าตัด” การรักษาที่ตรงจุดเพื่อกำจัด “นิ่วในถุงน้ำดี”
แม้ว่าการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีอาจจะรักษาได้ด้วยยา หรือสลายนิ่ว แต่คุณหมอบอกว่านั่นก็ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร “การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่ต้องการการผ่าตัด เพราะฉะนั้นการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุดคือการผ่าตัด” ซึ่งในปัจจุบันนิยมรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีแผลค่อนข้างเล็ก ทำให้ผู้ป่วยสามารถทนต่ออาการเจ็บปวดได้ค่อนข้างดี และสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน
ข้อจำกัด ของ “การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี”
ในส่วนของข้อจำกัดในการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดีนั้นหลักๆ คืออยู่ที่ตัวผู้ป่วย “อันดับแรกเลยคืออยู่ที่ตัวผู้ป่วยว่ามีความเสี่ยงในการดมยาสลบหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วว่าผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อยาสลบได้ เช่น อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวที่ค่อนข้างน่ากังวล เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง หรือโรคติดเชื้อบางอย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดทางหน้าท้องช่วงบน เหนือสะดือขึ้นไป หรือช่วงล่างบางประเภท ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะมีพังผืดท่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดส่องกล้อง แต่ทั้งนี้เราก็จะพยายามผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องก่อน หากไม่ได้จริงๆ จึงจะผ่าตัดเปิดหน้าท้องตามปกติ”
เรียนรู้…การดูแลตัวเอง “หลังผ่าตัด”
คุณหมอให้ความสำคัญอย่างมากกับการดูแลแผลผ่าตัด “ใน 1 สัปดาห์แรก ต้องให้ผู้ป่วยมาทำแผลทุกวัน หรือบางเคสอาจทำวันเว้นวัน เรื่องของอาหารการกิน ก็ต้องงดหรือลดอาหารมัน อาหารที่มีรสจัด หรือย่อยยาก ซักระยะหนึ่ง ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันอื่นๆ หมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยงดออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยหันมาออกกำลังกายเบาๆ ”
เทคนิคดูแลตัวเอง ให้ห่างไกล “นิ่วในถุงน้ำดี”
แต่สำหรับใครไม่อยากจะต้องเจอกระบวนการต่างาๆ เหล่านี้ การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ซึ่งคุณหมอได้แนะนำไว้ว่า “ในการดูแลตัวเองเพื่อห่างไกลนิ่วในถุงน้ำดี ให้พยายามงด และลดการทานอาหารมัน หันมาทานอาหารที่มีกากใยให้เยอะ และควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลร่างกาย ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ไม่เกิดภาวะอ้วน หรือมีไขมันในเลือด มีคอเลสเตอรอลสูง และในกรณีที่มีคนในบ้านเป็น พ่อแม่ พี่น้อง หรือที่เป็นกรรมพันธุ์เป็นนิ่ว ก็ต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพทั่วไป เมื่อรู้สึกท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยเรื้อรัง ก็ควรจะมาตรวจกับหมอเฉพาะทางทางด้านทางเดินอาหารหรือศัลยกรรม เพื่อตรวจอัลตร้าซาวน์ดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่”
ศัลยแพทย์ทั่วไป
ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์