การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านับเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมักวิตกกังวล นอกจากผลการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการดูแลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งความรู้ในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด จะช่วยลดความกังวลและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ดี หากปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วนตามคำแนะนำของแพทย์และสหวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยหายเจ็บปวดและกลับมาเดินได้เป็นปกติเร็วขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคืออะไร
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แพทย์จะนำผิวข้อเข่าเดิมซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่ผิวข้อเข่าเทียมเข้าแทนที่ ระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะตกแต่งส่วนของกระดูกเพื่อใส่ผิวข้อเข่าเทียมให้พอดี ได้มุมรับของกระดูกที่สอดคล้องกัน จากนั้นจะเชื่อมผิวข้อเข่าเทียมกับกระดูกให้ยึดติดกันด้วยสารสังเคราะห์ชนิดพิเศษทางการแพทย์โดยเฉพาะ
ดูแลอย่างไรหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การดูแลสุขภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพข้อเข่านั้น จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เจ็บปวดน้อยและแผลหายไว ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินได้ดีโดยเร็ว ดังนี้
หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก
ผู้ป่วยยังมีสายระบายเลือด มีสายสวนปัสสาวะ และสายน้ำเกลืออย่างละเส้น พยาบาลจะทำการตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจรทุก 1-2 ชั่วโมง และจะวางหมอนหนุนขาข้างที่ทำผ่าตัดเพื่อยกให้ปลายเท้าสูงขึ้นกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดอาการบวมของปลายเท้า และหากผู้ป่วยไม่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน ก็สามารถกินอาหารอ่อนๆ และดื่มน้ำได้ตามปกติ
- หลังผ่าตัดวันที่ 1 มีการประคบเจลเย็นบริเวณแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกการบริหารกล้ามเนื้อขา และฝึกการงอขา เหยียดขา ผู้ป่วยที่อาการทุกอย่างปกติดีจะได้รับการฝึกยืนลงน้ำหนัก และหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker) โดยเร็วที่สุด
- หลังผ่าตัดวันที่ 2 มีการฝึกเดิน ฝึกการเหยียดเข่า งอเข่า อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนอนยังต้องยกขาสูงและประคบเจลเย็นที่หัวเข่าเพื่อลดบวมต่อไป หากเดินได้ดีจะเพิ่มการฝึกใช้ห้องน้ำ ถ้าทำได้ดีก็สามารถเอาสายสวนปัสสาวะออกเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะพิจารณาเอาสายระบายเลือดออก และหากผู้ป่วยกินอาหารและน้ำได้ดี ไม่คลื่นไส้ ไม่อาเจียน แพทย์จะอนุญาตให้เอาสายน้ำเกลือออกได้
- หลังผ่าตัดวันที่ 3 ถ้าฝึกเดินในห้องได้ดีแล้ว นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยเดินขึ้นลงบันได
- หลังผ่าตัดวันที่ 4 จะเป็นการสรุปการฝึกเดินทั้งหมด และแนะนำวิธีการออกกำลังกายเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ผู้ป่วยจะอาบน้ำได้เองในช่วงนี้ โดยมีพลาสเตอร์แบบกันน้ำปิดแผลไว้ เมื่อผู้ป่วยเดินด้วยเครื่องช่วยพยุงเดินได้คล่อง และไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
สาเหตุและอาการภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่อาจเกิดขึ้น
- อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดหรือข้อเข่าเทียม เนื่องจากข้อเข่าเทียมถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไม่ถึง หากติดเชื้อจะต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างดี
- อาจเกิดการอุดตันของหลอดเลือดฝอยในปอด จากการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำในขณะผ่าตัดหรือไขมันเกิดหลุดเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปอุดตันที่ปอด ทำให้ระบบการหายใจผิดปกติ
- อาจเกิดข้อเข่าติดแข็ง ทำให้ไม่สามารถงอหรือเหยียดเข่าได้เต็มที่
- อาจเกิดกระดูกหักบริเวณใกล้ข้อเข่าเทียม ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุหกล้ม
- อาจเกิดข้อเข่าเทียมหลวมหรือหลุด หรืออาจสึกเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นนี้ จะได้รับการดูแลป้องกันจากแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หากเกิดความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาจากการวินิจฉัยของแพทย์ในทันที
อาการแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติหลังการผ่าตัด
แม้ว่าการผ่าตัดส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จและมีโอกาสน้อยที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยควรสังเกตอาการด้วยตนเองร่วมด้วย หากรู้สึกสบายดี ไม่มีไข้ ขณะฝึกเดินไม่เจ็บไม่ปวด (ยกเว้นจะมีอาการเจ็บแผลบ้างตามปกติของการผ่าตัด) ถือว่าปกติดี
ถ้ามีอาการข้อเข่าบวมต่อเนื่อง ปวดหัวเข่าแม้ขณะพักและขณะเคลื่อนไหวข้อเข่า ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบของข้อเข่าและเยื่อหุ้มข้อเข่า หรือมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ ซึ่งอาจจะเกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด ควรรีบแจ้งแพทย์หรือผู้ดูแลทันที เพื่อการเฝ้าระวังและรักษาหากอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะแทรกซ้อน
การรักษาหากเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีความผิดปกติหลังการผ่าตัด แพทย์จะวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษา ดังนี้
แพทย์จะทำการวินิจฉัย หากพบว่ามีอาการติดเชื้อโดยดูจากผลเอกซเรย์ ผลเลือด ผลการตรวจน้ำในข้อเข่าทางห้องปฏิบัติการ ถ้าข้อเข่าเทียมยังมั่นคงและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แพทย์สามารถผ่าตัดเปิดผิวข้อเข่า ทำความสะอาดแผล และให้ยาปฏิชีวนะ
แต่หากพบว่ามีการติดเชื้อ รวมถึงข้อเข่าเทียมที่ใส่ไว้เกิดหลวมหรือเปลี่ยนตำแหน่งไป แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดล้างแผลติดเชื้อ และตัดเนื้อเยื่อที่อักเสบ และนำข้อเข่าเทียมที่ใส่ไว้ออกทั้งหมด โดยใส่ตัวชั่วคราว (Antibiotic Cement Spacer) ไว้แทน และให้ยาปฏิชีวนะจนผู้ป่วยหายดีจึงค่อยผ่าตัดนำข้อเข่าเทียมใส่กลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง
ในปัจจุบันนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผ่าตัดได้ผลดี ความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า ผ่าตัดหัวเข่าแล้วทำให้เดินไม่ดีหรือเดินไม่ได้ก็ลดลง และไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยเจ็บน้อย แผลหายไว อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดผู้ป่วยและผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้หัวเข่ากลับมาใช้งานได้ดี และใช้ชีวิตประจำได้อย่างปกติในเวลาอันรวดเร็ว