เด็กที่มีปัญหากระดูกสันหลังคด นอกจากต้องทนทุกข์กับอาการของโรค ผลกระทบในการใช้ชีวิต และการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว พ่อแม่ยังมีความกังวลไม่อยากให้ลูกผ่าตัด แต่ นพ.สมบัติ คุณากรณ์สวัสดิ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลัง ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ รพ.พญาไท 3 บอกว่า ยิ่งปล่อยไว้นาน หลังก็คดมากขึ้น ดังนั้นถ้าวินิจฉัยได้เร็ว ตัดสินใจรักษาเร็ว การรักษาจะได้ผลที่ดีกว่า… และการผ่าตัดก็ปลอดภัย และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
อะไร คือต้นเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคด
คุณหมอสมบัติ อธิบายว่า โดยทั่วไปจะพบโรคกระดูกสันหลังคด 2 ชนิด คือ
- กระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ – พบได้ประมาณ 80%
- กระดูกสันหลังคดชนิดทราบสาเหตุ – พบประมาณ 20% คือเป็นตั้งแต่กำเนิด, กลุ่มกล้ามเนื้อเส้นประสาทผิดปกติ หรือกลุ่มที่กระดูกสันหลังคดร่วมกับมีเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง
โดยแพทย์จะทราบสาเหตุและยืนยันได้ ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
รักษาอย่างไร? ขึ้นอยู่กับความคดของกระดูกสันหลัง
- การใส่เสื้อเกราะ (Brace) กรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่ากระดูกสันหลังคดไม่มาก ก็จะให้ผู้ป่วยใส่เสื้อเกราะเพื่อป้องกันไม่ให้คดมากขึ้น
- การผ่าตัด หากใส่เสื้อเกราะและยังมีการคดมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนว่าการดำเนินของโรคยังไม่หยุด จึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ให้ข้อมูลรอบด้าน พร้อมการรักษาที่ทันสมัย
คุณหมอสมบัติ บอกว่า ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะให้ข้อมูลรอบด้านรวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิด 1% เพราะการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังคดในปัจจุบันนั้นค่อนข้างปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย โดยเฉพาะเครื่องมือจับสัญญาณเส้นประสาทช่วยในกรณีที่แพทย์ผ่าตัดยืดเส้นประสาทและเครื่องจะส่งสัญญาณเตือนหากมีการยืดมากเกินไป ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ยึดหรือดัดมีความแข็งแร็ง เป็นวัสดุไททาเนียมคงอยู่กับร่างกายไปตลอด จึงไม่ต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อนำอุปกรณ์ยึดออกในภายหลัง จึงช่วยลดความกังวลให้กับคนไข้และครอบครัวได้
ฝันร้ายจะตามมา หากปล่อยไว้ไม่รักษา
หากกระดูกสันหลังคดแล้วไม่พบแพทย์ จะเกิดปัญหาระยะยาวขึ้นอยู่กับบริเวณที่กระดูกสันหลังคด
- กระดูกสันหลังคดช่วงทรวงอก ถ้าคดมากกว่า 60 องศา จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบช่องปอด เช่น เมื่อเด็กเล่นกีฬาจะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าเด็กทั่วไป และจะคดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบหายใจด้วย
- กระดูกสันหลังคดบริเวณเอว เมื่ออายุมากขึ้น หลังจะเบี้ยวคด ตัวเอียงชัดเจน
คุณหมอสมบัติ ทิ้งท้ายว่า ถ้าเด็กที่มีปัญหาได้รับการวินิจฉัยเร็ว ตัดสินใจรักษาเร็ว การรักษาจะได้ผลที่ดีกว่า ผู้ปกครองสามารถมั่นใจได้ว่าศัลยแพทย์จะผ่าตัดให้ร่างกายลูกน้อยกลับมามีสมดุลมากที่สุด หากเปรียบกระดูกสันหลัง ก็เสมือนต้นบอนไซ ที่เราต้องดัดให้ได้รูปทรง การผ่าตัดของเราก็เช่นกันต้องผ่าตัด ดัด ยึด ให้กลับคืนสมดุลให้มากที่สุด เพื่อให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
นพ.สมบัติ คุณากรณ์สวัสดิ์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลัง
ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3