รักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ตัดหูรูด ทางเลือกใหม่..หมดกังวลเรื่องกลั้นอุจจาระ

รักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ตัดหูรูด ทางเลือกใหม่..หมดกังวลเรื่องกลั้นอุจจาระ

ฝีคัณฑสูตร หรือ ฝีขอบทวาร แม้จะเป็นโรคที่ชื่อไม่คุ้นหู..แต่กลับเป็นโรคทางทวารหนักที่พบได้บ่อยไม่แพ้ริดสีดวงทวาร โดย นายแพทย์ธีรสันติ์ ตันติเตมิท ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้อธิบายถึง “ฝีคัณฑสูตร” เอาไว้ว่า..เป็นฝีที่เกิดบริเวณขอบทวารหนัก ปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีต่อมผลิตเมือก (Anal glands) ประมาณ 8-10 ต่อม ซึ่งอยู่บริเวณรอบๆ ขอบทวารหนักถัดจากปากทวารหนักเข้ามาประมาณ 1 ซม. หากต่อมเหล่านี้เกิดการอุดตันและอักเสบติดเชื้อจะกลายเป็นฝีหลบใน และเกินกว่า 50% ฝีจะไม่สามารถแตกออกมาเองได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดฝีออก

สาเหตุของการเกิดโรค

สาเหตุของการเกิดฝีคัณฑสูตรไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ คือคล้ายกับการเกิดสิวหรือไส้ติ่งอักเสบ..ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันโดยไม่มีอาการบ่งชี้ล่วงหน้า แต่การขับถ่ายบ่อยและใช้กระดาษเช็ดก้นแรงจนระคายเคืองบริเวณรูทวารหนัก ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคฝีคัณฑสูตรได้

กลุ่มเสี่ยงของโรคฝีคัณฑสูตร

  • ในผู้ที่ขับถ่ายบ่อยวันละ 3-4 ครั้ง มักมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคฝีคัณฑสูตรมากกว่าคนทั่วไป เพราะมีการเบ่งถ่ายมากกว่าคนที่ขับถ่ายน้อย
  • พบในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากต่อมผลิตเมือกของผู้สูงอายุจะฝ่อไปตามวัย อีกทั้งกล้ามเนื้อหูรูดก็ไม่ตึงเหมือนคนวัยหนุ่มสาว โอกาสเกิดการบาดเจ็บจึงน้อยลง
  • โรคนี้พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ผู้ชายมักมีอาการของโรคที่ซับซ้อนกว่าเพราะกล้ามเนื้อหูรูดมีความแข็งแรงมากกว่า
  • สำหรับผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ โรคภูมิต้านทานบกพร่อง หรืออายุมาก หากเป็นโรคฝีคัณฑสูตรจะอันตรายเป็นพิเศษ เพราะฝีอาจลุกลามไปถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมากจนต้องมาโรงพยาบาลก่อนอาการจะรุนแรงถึงขั้นนั้น

อาการบ่งชี้เบื้องต้นของฝีคัณฑสูตร

  • คนไข้มักมีอาการขอบทวารหนักบวมและเจ็บปวดบริเวณรอบๆ รูทวารหนักตลอดเวลา ช่วงที่ไม่ได้ขับถ่ายก็จะรู้สึกปวด โดยเฉพาะเวลา ไอ,จาม อาจสันนิษฐานได้ว่ามีฝีคัณฑสูตรอยู่ภายในรูทวาร
  • คนไข้บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย เมื่อมีอาการรุนแรงมากขึ้น
  • บางรายมีน้ำเหลืองซึมออกมาจากรูทวารในกรณีอาการของฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง

แนวทางการรักษา “ฝีคัณฑสูตร”

  • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม  แพทย์จะตัดหูรูดทวารหนักเล็กน้อยเพื่อเปิดทางให้หนองในฝีออกมาจนหมด วิธีนี้จะทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคประมาณ 90-100% แต่หากแพทย์ไม่ชำนาญในการผ่าตัดจะทำให้สูญเสียกล้ามเนื้อหูรูดเยอะเกินไป และคนไข้อาจประสบปัญหาเรื่องการกลั้นอุจจาระหลังการผ่าตัดได้

เพราะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ “ฝีคัณฑสูตร” สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด..ไม่สามารถหายได้ด้วยยา แต่ด้วยสิ่งที่คนไข้มักกังวลไม่ว่าจะเป็น กลัวไม่หายขาด ต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง เนื่องจากรูที่หนองแตกออกปิดไม่สนิททำให้มีช่องต่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และกลัวกลั้นอุจจาระไม่อยู่หลังผ่าตัด เนื่องจากถูกตัดกล้ามเนื้อหูรูดออกมากเกินไป ทำให้ปัจจุบันจึงมีทางเลือกในการรักษาที่ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องตัดหูรูดและไม่มีปัญหาข้างเคียงเรื่องการกลั้นอุจจาระ

  • การผ่าตัดแบบไม่ตัดรูหูด หรือที่เรียกว่าเทคนิค   LIFT (Ligation of intersphincteric fistula tract technique) วิธีนี้จะทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดจากโรคฝีคัณฑสูตรประมาณ 80-85% มีข้อดีคือไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูด ทำให้ประสิทธิภาพในการกลั้นอุจจาระไม่แตกต่างจากก่อนการผ่าตัด โดยระยะเวลาในการผ่าตัดอยู่ที่ราวๆ 30-90 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของตำแหน่งฝี

เทคนิค LIFT จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักโดยตรง เนื่องจากมีประสบการณ์การผ่าตัดและเข้าใจลักษณะของโรคฝีคัณฑสูตรมากกว่า จึงสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรณีที่คนไข้เคยผ่าตัดมาแล้ว 2-3 ครั้งแต่ยังไม่หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ก่อนในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น

ข้อดีของเทคนิค LIFT

  • คนไข้บางรายสามารถใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ แต่บางส่วนก็จำเป็นต้องฉีดยาเข้าไขสันหลัง (บล็อกหลัง) ก่อนการผ่าตัด แต่โดยรวมแล้วถือว่าความเจ็บปวดในการผ่าตัดค่อนข้างน้อยกว่าการผ่าตัดริดสีดวง
  • แผลหายเร็ว ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ

โอกาสในการกลับมาเป็นโรคฝีคัณฑสูตรซ้ำขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้และความซับซ้อนของโรค แต่การดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพักฟื้นให้แผลหายดีก่อนแล้วจึงค่อยกลับไปทำงานตามปกติ จะช่วยลดโอกาสในการกลับมาเป็นฝีคัณฑสูตรได้มากขึ้น


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...