ปวดข้อ ปวดนิ้วเท้า สัญญาเตือน “โรคเก๊าท์” ที่ต้องระวัง!

ปวดข้อ ปวดนิ้วเท้า สัญญาเตือน “โรคเก๊าท์” ที่ต้องระวัง!

ถ้าพูดถึงโรคเก๊าท์ หลายคนก็มักจะนึกถึงการกินไก่ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ว่า โรคเก๊าท์เกิดจากการกินไก่มากๆ แต่จริงๆ แล้วเนื้อไก่หรือสัตว์ปีกเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการเก๊าท์กำเริบเท่านั้น

 

โรคเก๊าท์คืออะไร?

จริงๆ แล้ว “เก๊าท์” เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่างๆ ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน บวม แดงตามข้อต่ออย่างเฉียบพลันเป็นระยะๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเดียวหรือหลายข้อต่อพร้อมกันได้

 

ปวดตามข้อ นิ้วแม่เท้า อาการของโรคเก๊าท์

โดยปกติแล้วอาการปวดอย่างรุนแรงตามข้อต่อเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้อต่อหลายส่วนตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก หัวเข่า ข้อต่อกระดูกมือ หรือข้อมือ โดยจะปวดรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงและมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น บวมแดง แสบร้อน เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เป็นต้น

 

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งเป็นภาวะของร่างกายที่มีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรงและอาการอื่นๆ ของโรคตามมา

 

พฤติกรรมเสี่ยง “โรคเก๊าท์”

  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  • ได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ
  • การดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป
  • อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง หรือความผิดปกติทางเลือดบางอย่าง
  • ยาบางประเภทที่ส่งผลต่อระดับกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ  ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  • โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน
  • โรคพร่องเอนไซม์ ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย

 

โรคเก๊าท์…รักษาได้ไม่ยาก

การรักษาโรคเก๊าท์จะใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาดูจากอาการของโรค สุขภาพโดยรวม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วย ควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค โดยการบรรเทาอาการปวดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเก๊าท์ในบริเวณข้ออื่นๆ ในอนาคต รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าท์

หากไม่ได้รับการรักษาโรคเก๊าท์ก็สามารถพัฒนาไปจนเกิดก้อนโทฟี่หรือปุ่มนูนใต้ผิวหนังในหลายส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น นิ้วมือ เท้า ข้อศอก หรือเอ็นร้อยหวาย แต่โดยปกติมักไม่ก่ออาการเจ็บปวด แต่เมื่ออาการของโรคกำเริบอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ปวดตามข้อ ข้อต่อบิดเบี้ยวจนผิดรูปไปจากเดิม นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดนิ่วในไตจากการสะสมของผลึกยูเรตในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานของไตที่ปกติหรือเกิดภาวะไตวายได้

 

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็น…โรคเก๊าท์

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่นำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล สัตว์ปีก ถั่วบางชนิด สารสกัดจากยีสต์ แต่อาจทดแทนด้วยโปรตีนที่ได้จากผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรอดอาหารหรือลดน้ำหนักรวดเร็วจนเกินไป

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...