อดอาหารหลายวัน ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร

อดอาหารหลายวัน ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร

ในแต่ละวันร่างกายของเราจะได้รับพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การที่เราอดอาหารเป็นเวลานานจะทำให้ไม่มีพลังงานเข้าไปในร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วงแรกที่เริ่มขาดพลังงานจากสารอาหาร ร่างกายจะทดแทนด้วยการไปใช้พลังงานจากส่วนอื่นแทน ซึ่งโดยปกติร่างกายเราใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นตัวเผาผลาญทำให้ร่างกายเรามีพลังงานกล้ามเนื้อขยับได้ สมองคิดได้ หัวใจสูบฉีด เป็นต้น

 

ดึงพลังงานทดแทนมาใช้..เมื่อ “อดอาหาร”

ปกติเวลารับประทานอาหารเข้าไป ส่วนที่เกินจากที่ร่างกายใช้..จะมีการสะสมเอาไว้ เพื่อนำไปใช้ในตอนที่ขาดสารอาหาร เรียกว่า “ไกลโคเจน” (glycogen) โดยจะสะสมบริเวณตับและกล้ามเนื้อ ใช้สำหรับเป็นแหล่งของพลังงาน เมื่อปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดลดลง หรือร่างกายขาดสารอาหาร ตับจะเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็น “น้ำตาลกลูโคส” (glucose)

 

หลังจากร่างกายมีการดึงมาใช้เรื่อยๆ จนหมด ร่างกายจะมีการสลายตัวไขมัน หรือการดึงไขมันในร่างกายของเราออกมาใช้ โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “คีโตน” เปรียบเสมือนโมเลกุลของน้ำตาล ถ้ากระบวนขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่องจนร่างกายดึงทุกส่วนมาใช้หมดแล้ว จึงจะเริ่มดึงเอากล้ามเนื้อ โปรตีน มาใช้ทดแทน

 

อดอาหาร..ส่งผลต่อสุขภาพจิต

การที่อดอาหารนานจนเกินไป ไม่ใช่แค่เรื่องการขาดสารอาหารอย่างเดียว แต่จะเชื่อมโยงกับเรื่องจิตใจของเราด้วย เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความซึมเศร้า ความหิว หรือความอยากรับประทานของคนเรานั้นก็จะลดลง

 

คนเราสามารถอยู่ได้โดยไม่กินอะไร..นานแค่ไหนกัน?

ถ้าคนเราขาดสารอาหารจะอยู่ได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ ต้องแยกว่าเราขาดสารอาหาร..แล้วเราขาดน้ำด้วยไหม? เพราะการที่ร่างกายขาดน้ำโดยทั่วไปจะอยู่ได้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ เท่านั้น เนื่องจากการที่ขาดน้ำเรื่อยๆ จะทำให้ขับปัสสาวะไม่ออก ของเสียภายในร่างกายเกิดการสะสมมากขึ้น อาจเกิดภาวะไตวาย ความดันต่ำลง หรืออาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้

 

ข้อควรปฏิบัติ…หลังอดอาหารมาหลายวัน

การที่เราจะเริ่มกลับมารับประทานอาหาร เราต้องเลือกรับประทานอาหารที่พร้อมจะดูดซึม อย่างอาหารเจลที่พร้อมจะปรับลำไส้ เพื่อรับประทานไปแล้วสามารถดูดซึมได้เลย โดยรับประทานต่อเนื่องแบบนี้ประมาณ 4-7 วัน เพื่อทำให้ร่างกายมีการปรับตัวด้วยการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา และกลับมาย่อยอาหารหรือดูดซึมเองได้ แต่ต้องจำกัดชนิดอาหารและปริมาณในแต่ละวันให้เหมาะสม โดยค่อยๆ เพิ่มการรับประทานอาหารขึ้นมาทีละขั้นตอน แต่ยังไม่ควรจะเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดมากจนเกินไป ทั้งนี้เราควรมีการสังเกตอาการควบคู่กันว่าร่างกายมีการถ่ายเหลวอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีการถ่ายเหลวอยู่ก็แปลว่าร่างกายยังไม่พร้อมที่จะย่อยและดูดซึม

 

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารหลังจากที่อดอาหารมานานต้องพึงระวัง “ภาวะรีฟีดดิ้ง ซินโดรม” (Refeeding Syndrome) เนื่องจากร่างกายเราไม่ได้รับสารอาหารนั้นเลย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารโดยทันที จะทำให้เซลล์ทุกอย่างในร่างกายเริ่มซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายพร้อมๆ กัน และดึงพลังงานนำไปใช้พร้อมกันหมด ทำให้ร่างกายของเรานั้นปรับตัวไม่ทัน สามารถทำให้เกิดอาการชา ตะคริว ชัก หรือเกร็งได้ ในขณะเดียวกัน..การสร้างเซลล์ใหม่ๆ เราต้องใช้วิตามินบี 1 เข้าไปช่วยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...