ลูกน้อยของคุณ..กำลังมีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่หรือไม่? ถ้าใช่แล้วล่ะก็..มาทำความรู้จักแบบเจาะลึกเกี่ยวกับ “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก” ไปกับกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้คนเก่ง แพทย์หญิงสุวาณี เจริญลาภ กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูนวิทยาในเด็ก ศูนย์ภูมิแพ้ รพ.พญาไท 3 กันดีกว่า…
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง…เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก การเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายใน (intrinsic หรือ non IgE associated)
เป็นความผิดปกติของยีนที่สร้างสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ซึ่งเป็นปัจจัยจากความผิดปกติของผิวหนังเอง - ชนิดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (extrinsic หรือ IgE associated)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับ IgE ในเลือดสูง หรือการทดสอบทางผิวหนังชนิด skin prick test ให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด (asthma) โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) เป็นต้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการอย่างไร ?
ลักษณะผื่นผิวหนังในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ลักษณะที่พบได้ชัดคือเป็นผื่นตุ่มแดงคัน เป็นแผ่นแดง ลอก และเป็นขุยได้ มีอาการคันมาก และการกระจายตามตัวจะต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- วัยทารก มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่สัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี
- วัยเด็กโต ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา
แพทย์จะวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างไร ?
แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆ หายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
แต่หากในกรณีที่ให้การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น อาหารและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง หรือละอองเกสร โดยทำการทดสอบเพิ่มเติมได้ดังนี้
- การทดสอบทางผิวหนัง ได้แก่ skin prick test หรือ patch test
- การเจาะเลือด ตรวจ specific IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ
- การทดสอบการแพ้อาหารโดยการรับประทาน (oral challenge)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีวิธีรักษาอย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติชัดเจน เช่น อาหาร เหงื่อ สารเคมี ที่อาจระคายเคือง
- ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรืออาบน้ำอุ่นจนเกินไป จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น ทาครีม หรือโลชั่นบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำตอนผิวยังเปียก เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
- ใช้ยาทาลดการอักเสบตามที่แพทย์สั่ง เมื่อมีผื่นเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาผื่นตามลักษณะและระยะของผื่น เป็นต้นว่าหากมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหล จะใช้น้ำเกลือประคบแผล หากระยะของผื่นเกิดมานาน จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทา โดยแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยาให้เหมาะสมกับลักษณะ และตำแหน่งของผื่น ไม่ควรซื้อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ (เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง เกิดแผลแตก และติดเชื้อได้ง่าย เกิดผื่นอีกชนิด และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อให้เกิดการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะของต่อมหมวกไต) ปัจจุบันมียากลุ่มต้านการอักเสบ calcineurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆ ไป และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
- เฝ้าระวังและมองหาภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง หากตรวจพบต้องให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
- รับประทานยาลดอาการคัน เพื่อบรรเทาอาการคันที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- การรักษาอื่นๆ เช่น
-
- การฉายแสง UV หรือการทานยากดภูมิคุ้มกัน ในกรณีที่ผื่นเป็นมากและอาการไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับการรักษาพื้นฐานแล้ว แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเด็กต่อไป
- การรักษาโดยวิธี allergen specific immunotherapy หรือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาการแพ้อย่างชัดเจนจากการตรวจเลือด specific IgE หรือการทดสอบทางผิวหนัง (skin prick test) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการแพ้ไรฝุ่น โดยมีการศึกษาทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าการรักษาโดย allergen immunotherapy จะลดความรุนแรงของโรคทั้งบริเวณและความรุนแรง รวมถึงลดการใช้ยาทาสเตียรอยด์ลง ทั้งนี้ควรได้รับการประเมินและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง…รักษาหายไหม?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ มีช่วงที่โรคสงบ/ผื่นยุบ และมีช่วงที่ผื่นกำเริบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลผิวหนัง และการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละราย ด้วยธรรมชาติของโรคแล้วมักมีอาการมากตอนเด็ก ประมาณ 60% ของผู้ป่วยจะมีอาการตอนอายุน้อยกว่า 1 ปี จากนั้นเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่ผื่นผิวหนังจะดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นนั้นเนื่องจากผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการดูแลผิวหนังตนเองได้ดีขึ้นนั่นเอง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง..ป้องกันได้ไหม?
เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งส่วนของพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกา และความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้
ในปัจจุบันมีผลการศึกษาที่สนับสนุนว่าการใช้ครีมบำรุงผิวสูตรที่เหมาะสมสำหรับผิวทารกและผิวแพ้ง่าย ตั้งแต่ทารกแรกคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้