ในคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการแบบไหนที่เรียกว่า ‘ท้องแข็ง’ ?
อาการท้องแข็ง คือ เมื่อเอามือไปจับบริเวณท้องจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อนๆ ตึงๆ และมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ ในแต่ละรายจะมีความแข็งมากหรือแข็งน้อยแตกต่างกันออกไป และอาจมีอาการปวดเกร็งเสียวบริเวณช่วงท้องน้อยด้วย โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการท้องแข็งได้วันละ 3-4 ครั้ง ในช่วงไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์ แต่จะไม่สม่ำเสมอ
สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแข็ง
- คุณแม่มีความเครียดในขณะตั้งครรภ์
- ทารกในครรภ์ดิ้นมากอาจไปโดนกับผนังมดลูก มดลูกถูกกระตุ้นจึงเกิดการบีบตัว
- มดลูกเกิดการบีบตัวเองจากกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้
- การกินอาหารและมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เมื่อใดก็ตามที่กินอาหารมากเกินไป ก็อาจไปเบียดกับมดลูกจนรัดตัวได้เหมือนกัน
- พฤติกรรมและกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ อาทิ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก มีเพศสัมพันธ์รุนแรง และการกลั้นปัสสาวะบ่อย
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?
- ลดกิจกรรมทั้งในและนอกบ้าน โดยเฉพาะการทำงานหรือกิจกรรมหนักๆ ที่ทำให้เหนื่อยและเกิดความเครียดได้ง่าย
- เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นมดลูกให้บีบรัดตัว เช่น การจับ-ลูบท้อง การเหวี่ยงหรือขยับตัวแรงๆ และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้คลอด
- หลังมื้ออาหารควรเดินเล่นหรือนั่งพักสักครู่ก่อน ไม่ควรนอนทันที เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดจนท้องแข็งได้
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะโตขึ้นจนไปเบียดกับมดลูก ทำให้เกิดอาการท้องแข็งตึงได้
- หาเวลาพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น เช่น การนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็ง