เช็กสิ ปวดหลังบ่อย บอกโรคอะไรได้บ้าง ?

พญาไท 3

1 นาที

อ. 02/03/2021

แชร์


Loading...
เช็กสิ ปวดหลังบ่อย บอกโรคอะไรได้บ้าง ?

โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังมีมากมาย และเกิดขึ้นได้บ่อยไม่น้อยกว่าอาการปวดหัว ซึ่งอาการปวดหลังโดยทั่วไปมักเกิดจากพฤติกรรม เช่น การนั่งมากเกินไป การยกของหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป ซึ่งอาการแสดงมักจะเป็นอาการปวดเมื่อย รู้สึกกล้ามเนื้อตึง เท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็ได้

 

อาการปวดหลังแบบไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง ?

  • ปวดหลังร้าวลงขา หรือหลังปวดเมื่อไอ จาม

ลักษณะนี้อาจเกิดจาก “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลังหรือรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนไม่อาจขยับตัวได้ นอกจากนั้นยังมีอาการอื่นๆ ร่วมกับอาการปวดหลังด้วย เช่น

  • ปวดเมื่อไอ จาม เบ่งถ่ายขณะเข้าห้องน้ำ
  • รู้สึกขาชา
  • แอ่นหลังหรือก้มหลังแล้วรู้สึกปวดร้าวลงขามากขึ้น
  • ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง

ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก นั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานาน แล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงความเสื่อมตามธรรมชาติ

 

  • ปวดตึงหลังเฉียบพลัน ปวดหลังบริเวณกว้าง

อาการนี้มักเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อหลังของเราถูกใช้งานมากเกินไป จากการก้มๆ เงยๆ การยกของหนัก อุบัติเหตุโดนกระแทกที่หลังโดยตรง การเล่นกีฬาอย่างหนัก จนทำให้ “กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลัน” ทันที ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เกิดจากกล้ามเนื้อหลังมีการอักเสบเฉียบพลัน จึงมีอาการคล้ายๆ กับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา อาการที่พบบ่อยๆ คือ ปวดเกร็งหลัง จนต้องแอ่นหลังตลอดเวลา และกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งเป็นลำชัดเจน

 

  • ปวดหลังแบบขัดๆ ภายในข้อ ก้มหลังได้ไม่สุด

“โรคกระดูกสันหลังเสื่อม” ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการปวดใดๆ แสดงให้เห็นเด่นชัด ผู้ป่วยจะทราบอาการก็ต่อเมื่อมีอาการปวดหลัง เนื่องจากข้อต่อที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างไว้ เกิดเสื่อมลงมากจนทรุดตัว ถึงจะเริ่มมีอาการปวดหลัง โดยผู้ป่วยจะก้มหลังได้ไม่สุด จะรู้สึกตึงๆ ขัดๆ ที่หลังในขณะที่ก้ม หากกระดูกสันหลังทรุดมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ โดยเราจะสามารถทราบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมหรือไม่จากการตรวจ X-ray กระดูกสันหลัง

 

  • ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง

อาการปวดเหนือบั้นเอวทั้งสองข้างมักเกิดจากความผิดปกติภายใน เช่น โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี  หรือมีถุงน้ำในไต ทำให้ไตทำงานได้น้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไตติดเชื้อ ไตวายเรื้อรังจนถึงขั้นไตหยุดทำงานถาวร นอกจากนี้ โรคกระเพาะ ลำไส้ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ก็ส่งให้เกิดอาการปวดหลังบริเวณนี้เช่นกัน  แต่โรคเหล่านี้มักจะมีอาการปวดท้องควบคู่กัน

 

  • ปวดหลังไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับมีไข้

หากปวดหลังและมักมีไข้ขึ้นตอนกลางคืน โดยที่ผู้ป่วยจะปวดหลังแบบไม่ทราบสาเหตุ ซีดและร่างกายโดยรวมอ่อนเพลีย อาจมีการติดเชื้อบางอย่าง เช่น แบคทีเรีย หรือวัณโรคกระดูกสันหลัง ซึ่ง“วัณโรคกระดูกสันหลัง” เกิดจากเชื้อวัณโรคชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นวัณโรคปอด หรือที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมาเชื้อแพร่กระจายไปที่กระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลังทางระบบท่อน้ำเหลืองหรือหลอดเลือดดำ เข้าสู่ส่วนหน้าของกระดูกสันหลังส่วนที่ติดกับหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วเข้าไปทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก เมื่อถูกทำลายจะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูกหมอนรองกระดูกเลื่อน และเมื่อเข้าสู่ช่องไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลังจนทำให้เป็นอัมพาตที่ขา  แต่ถ้าเป็นวัณโรคที่กระดูกและเกิดมีพยาธิสภาพเช่นเดียวกันก็จะให้เกิดอัมพาตที่แขนได้

 

อาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ หากไม่สามารถหาสาเหตุของอาการปวดหลังได้ ให้สังเกตอาการปวดหลังของตนเอง ว่ามีอาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์หรือไม่ ถ้าใช่ ควรนัดหมายเข้ารับการปรึกษาอาการปวดหลังจากแพทย์

โดยแพทย์อาจจะทำการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังด้วยการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง
หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI)
เพื่อค้นหาสาเหตุของรอยโรค และวางแผนการดูแลรักษาต่อไป


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...
Loading...