เบาหวานขณะตั้งครรภ์

พญาไท นวมินทร์

1 นาที

พฤ. 26/03/2020

แชร์


Loading...
เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นเบาหวานชนิดพิเศษ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และหายไปเองเมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์ สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนที่สร้างจากรก ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน รวมทั้งการตั้งครรภ์เองก็ทำให้มีการหลั่งอินสุลินจากตับอ่อนลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ได้เกิดกับหญิงมีครรภ์ทุกราย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานนี้ ได้แก่ หญิงที่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะมากกว่า 30 ปี หญิงที่มีน้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หญิงที่น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ หรือน้ำหนักขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น มีประวัติญาติสายตรงเป็นเบาหวาชนิดที่ 2 เช่น บิดา มารดา หรือพี่น้อง หญิงที่เป็นโรค polycystic ovarian syndrome หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ที่ผ่านมา หญิงที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์หลายท้อง เป็นต้น

ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งในหญิงมีครรภ์เอง และกับลูกน้อยในครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในหญิงมีครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ และมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนปกติ เป็นต้น ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารก ได้แก่ พิการแต่กำเนิด ทารกตัวโตผิดปกติ ส่งผลให้คลอดยาก คลอดติดไหล่ และมีโอกาสต้องถูกผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ภาวะน้ำตาลต่ำในทารกหลังคลอด และเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ดีที่สุด โดยการวินิจฉัยนั้น แนะนำว่า ในหญิงที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ควรได้รับการตรวจน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง และระดับน้ำตาลสะสม ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปฝากครรภ์ เพื่อคัดกรองว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือไม่ หากพบว่าเข้าเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน จะเริ่มทำการรักษาทันที แต่หากผลเลือดเป็นปกติ จะทำการตรวจซ้ำเมื่อตั้งครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์ โดยการกินน้ำตาล 75 กรัม และเจาะเลือดที่ก่อนและหลังกินน้ำตาลดังกล่าว หากเข้าเกณฑ์ในการวินิจฉัยเบาหวาน ก็จะทำการรักษาทันที

การรักษา เบาหวานขณะตั้งครรภ์

การรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ โดยผู้ป่วยต้องควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ได้พลังงานเท่าหญิงตั้งครรภ์ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงของหวาน หรืออาหารที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงง่าย เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว ของทอด ผลไม้รสชาติหวาน ขนมหวาน เป็นต้น แพทย์จะเจาะน้ำตาลปลายนิ้วผู้ป่วย 3-5 ครั้งต่อวัน ทุกวัน เพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หากระดับน้ำตาลปลายนิ้วเกินกว่าเกณฑ์ ก็จะเริ่มรักษา โดยการใช้อินสุลินฉีด เพื่อลดระดับน้ำตาล

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการลดน้ำหนักตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ก็มีหลักฐานว่าสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...