โรคหืด โรคปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อ เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกันแต่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ โรคปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อจะเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา โดยมักรับเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ เด็กๆ หรือเราทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออยู่เสมอ การรักษาร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเหล่านี้ได้ แต่หากติดเชื้อแล้ว ระดับความรุนแรงของโรคจะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนโรคหืดนั้น เป็นโรคที่เรียกได้ว่าเกิดจากแก้แพ้สารก่อภูมิแพ้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
โรคหืดคืออะไร ?
โรคหืด คือโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาเมื่อเจอกับสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุทางเดินหายใจ หลอดลมเกิดความผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อรอบหลอดลมเกิดการหดเกร็งตัว เยื่อบุผิวของหลอดลมบวมน้ำ และเยื่อบุผิวของหลอดลมมีการสร้างเสมหะมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหืด
ปัจจัยหรือสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคหืด มีอยู่ 3 อย่าง คือ
-
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ซึ่งนับเป็นปัจจัยหลัก โดยเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคหืดหรือภูมิแพ้ มีโอกาสที่จะเป็นมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่เป็น
- สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในบ้านหรือสิ่งแวดล้อมที่มีไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา เกสร สารเคมี หรือสัตว์เลี้ยง
- สุขภาพที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด เป็นต้น
อาการเริ่มต้นของโรคหืด…สังเกตได้ไม่ยาก
เด็กหรือผู้เป็นโรคหืด มักไอในตอนกลางคืน หากไปออกกำลังกายหรือโดนอากาศเย็นๆ ตอนหายใจออกจะมีเสียงวี้ดๆ และจะหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหายใจแล้วหน้าอกบุ๋มในตำแหน่งของช่องซี่โครง หรือด้านหลังของลำคอด้วย
ขั้นตอนการรักษาโรคหืด
การรักษาโรคหืด มี 3 แนวทางหลัก คือ
-
- ควบคุมสารก่อภูมิแพ้ โดยการลดการเกิดของสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน ทำได้ด้วยการดูแลเครื่องนอน พรม เสื้อผ้าเฟอร์นิเจอร์ ครัว และของใช้ภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของไรฝุ่น ฝุ่น และไม่มีแมลงสาบ หากมีสัตว์เลี้ยงควรจัดสถานที่ให้อยู่ไม่ปะปนกับคน
- รักษาด้วยยาและวิธีอื่นร่วมด้วย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แพทย์อาจให้กินยาหรือใช้ยาพ่น และใช้ยาควบคุมอาการในกลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของหลอดลม ส่วนการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยล้างสารและลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ติดอยู่กับขนจมูกหรือเยื่อบุจมูก
- การฉีดวัคซีน มักทำในกรณีที่รักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้เป็นที่น่าพอใจ หรือผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา และผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ได้ และผู้ป่วยที่ไม่อยากใช้ยา โดยวัคซีนภูมิแพ้ทำมาจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ เมื่อทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารอะไรก็จะใช้สารวัคซีนชนิดนั้นฉีดให้กับผู้ป่วย โดยเริ่มในปริมาณน้อยๆ จากความเข้มข้นต่ำไปจนถึงความเข้มข้นสูง การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาหลายปี ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม การเข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยว่า เสียงวี้ดๆ จากการหายใจ ใช้เกิดจากโรคหืดหรือไม่ก็มีความจำเป็น เพราะหากเป็นอาการของโรคภูมิแพ้หรือเป็นอาการของโรคอื่นๆ จะได้รักษาให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
พญ. สิริพิมพ์ เพ็ญชาติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์โรคระบบการหายใจ
ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 1