คุณรู้จักยาแก้แพ้มากแค่ไหน ?

พญาไท 1

1 นาที

พ. 25/03/2020

แชร์


Loading...
คุณรู้จักยาแก้แพ้มากแค่ไหน ?

เมื่อมีอาการ คันคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ผื่นขึ้น หลายคนหยิบยาแก้แพ้มากินทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ แม้ยาแก้แพ้จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่การรู้จักสรรพคุณของยา (ขนาน) ขนาด (จำนวน) วิธีกิน และการสังเกตอาการก็ยังมีความจำเป็น เพราะหากกินยาไม่ตรงกับโรคหรือกินน้อยเกินไปโรคก็จะไม่หาย ส่วนการกินยามากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นอันตรายกับร่างกายได้

 

รู้จักยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) โดยทั่วไปปรากฏอยู่ใน 2 รูปแบบคือ

  1. ชนิดเม็ด เหมาะสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่
  2. ชนิดน้ำเชื่อม เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบ

ซึ่งยาแก้แพ้นั้นเหมาะกับการกินเพื่อลดอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จากการแพ้อากาศ ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ รวมถึงอาการลมพิษ ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้อาหาร เป็นต้น

 

สรรพคุณของยาแก้แพ้

  1. บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม จากการแพ้อากาศ เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)
  2. บรรเทาอาการผื่นคัน ลมพิษ  เช่นยา ฮัยดร็อกซิซีน (Hydroxyzine) ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีมีผลกดสมอง จึงไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอาจทำให้เด็กแคระแกร็น ไม่สูงได้
  3. ช่วยลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง จึงมักนำมากินในตอนเป็นไข้หวัด น้ำมูกไหล แต่ไม่ได้ช่วยให้หายเป็นไข้หวัด ควรใช้กรณีที่มีน้ำมูกใสเท่านั้น ควรระวังการใช้ในเด็กเล็ก

 

กินยาแก้แพ้อย่างไรให้ถูกต้อง ?

  1. ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง หรือปรึกษาร้านยาที่มีเภสัชกร
  2. ปริมาณการกินยาแก้แพ้ ขึ้นกับตัวยา ซึ่งปริมาณของยาแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน

 

ข้อควรระวัง เมื่อต้องกินยาแก้แพ้

  1. ยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้ปากแห้ง จมูกแห้ง ปัสสาวะลำบาก และง่วงซึม จึงควรงดการขับขี่รถยนต์ ทำงานหรืออยู่ใกล้เครื่องจักร หากจำเป็นต้องทำงานหรือไม่สามารถนอนพักได้ อาจใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงซึม
  2. ยาแก้แพ้มักทำให้เสมหะมีความเหนียวข้นมากกว่าเดิม หากกินยาแก้แพ้ แล้วมีอาการไอมากขึ้น ควรหยุดกินยาทันที
  3. ไม่กินยาแก้แพ้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง ยาระงับประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากันชัก
  4. หญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรกินยาแก้แพ้เอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกชนิดและขนาดการกินที่เหมาะสม
  5. เมื่ออาการภูมิแพ้ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับลดยา

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...