ใครที่ต้องนอนแนบข้างกับคนเป็นโรคนอนกรนคงรู้ดีว่า… มันรบกวนความสงบสุขในห้วงนิทราอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แต่คนที่นอนข้างเคียงเท่านั้นที่ต้องทนทุกข์กับเสียงกรนที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ดังอยู่ในบ้าน แต่เจ้าตัวคนนอนกรนเองก็อาจต้องทุกข์ทรมานในวันข้างหน้า ถ้าไม่ตระหนักถึงภัยที่จะตามมา
ทำไมจึงนอนกรน?
อาการนอนกรนเป็นปัญหาที่เราพบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีผลเสียอะไร ในทางตรงกันข้ามอาการนอนกรนเป็นอาการเตือนว่าทางเดินหายใจเริ่มมีการตีบแคบลง จนเมื่อมีการตีบแคบมากขึ้นจนปิดสนิทอาการกรนจะหายไปเนื่องจากไม่มีอากาศผ่านไปได้กลายเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ออกซิเจนที่มีอยู่ในเลือดซึ่งมีการใช้ตลอดเวลาแม้ในขณะหลับจะลดต่ำลงจนถึงจุดที่ทำให้มีการกระตุ้นให้สมองตื่นตัวเพื่อกลับมาหายใจเอาออกซิเจนกลับเข้าในร่างกายให้เพียงพอ
การที่สมองถูกกระตุ้นให้มีการตื่นตัวซ้ำๆ ตลอดทั้งคืนจะทำให้คุณภาพการนอนลดลง เมื่อตื่นนอนมาจึงไม่สดชื่น กลางวันง่วง อ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หงุดหงิด ฉุดเฉียวง่าย หากขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
เด็กที่เป็นโรคนอนกรนส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ หรือต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์มีขนาดโตกว่าปกติ ในเด็กบางคนอาจเกิดจากการมีโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม ทั้งนี้ภาวะนอนกรนมีผลกระทบกับเด็กในด้านการพัฒนาการ การเรียนรู้ ความจำ ส่งผลให้การเรียนตกต่ำเนื่องจากความจำไม่ค่อยดี สมาธิสั้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าเด็กทั่วไป
ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นโรคนอนกรนก็คือ ความอ้วนที่ทำให้มีไขมันส่วนเกินสะสม จนส่งผลให้ผนังช่องคอหนาตัว หรือบางคนเกิดจากพฤติกรรม เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พฤติกรรมเช่นนี้มีผลทำให้กล้ามเนื้อช่องทางเดินหายใจเกิดการหย่อนตัวและบวมหนามากกว่าปกติ
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
หากเห็นชัดว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือสงสัยว่าจะมีภาวะดังกล่าว โดยคนข้างเคียงมักจะสังเกตได้ มีอาการง่วงกลางวันแม้จะนอนมาเต็มที่แล้ว หรือบางคนอาจนอนกรนร่วมกับมีโรคประจำตัวด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งโรคนอนกรนหยุดหายใจจะส่งผลให้โรคประจำตัวดังกล่าวแย่ลงหรือควบคุมได้ยาก หากมีอาการดังกล่าวจึงควรไปรีบไปพบแพทย์
หากไม่รักษาแล้วจะเป็นอย่างไร?
- โรคนอนกรนทำให้มีความเสี่ยงกับโรคอัมพฤต อัมพาตมากกว่าคนปกติหลายเท่า เพราะว่าในช่วงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ออกซิเจนตกลง ในขณะที่สมองยังต้องใช้ออกซิเจนอยู่ รวมทั้งหัวใจก็ต้องใช้ออกซิเจนด้วย เมื่อมีภาวะเช่นนี้จึงทำให้หัวใจต้องบีบตัวหนักเพื่อชดเชยกับภาวะหยุดหายใจในช่วงแรก และขณะที่มีการบีบตัวของหัวใจชดเชยก็จะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นมากกว่าปกติ อาจส่งผลให้หลอดเลือดสมองแตกได้
- หากไม่รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เป็นรุนแรงจะทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคที่เกิดร่วมตามมาได้แก่โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน สมรรถภาพทางเพศลดลง
นอกจากนี้ การนอนกรนไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย ยังมีผลต่อคุณภาพการนอนของคู่นอนด้วยเนื่องจากเสียงกรนที่ดังรบกวนทำให้นอนไม่หลับ บางครั้งทำให้ก่อปัญหาในครอบครัวถึงขั้นหย่าร้าง และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางรถที่เราคาดไม่ถึง เนื่องจากทำให้ง่วงจนการตัดสินใจไม่ทันการณ์เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีรถเบรคกระทันหัน
การดูแลโรคนอนกรนเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำคนไข้ที่มีน้ำหนักเกินให้ลดความอ้วน ให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดทานยานอนหลับ งดยากดระบบทางเดินหายใจและเปลี่ยนเป็นนอนตะแคงข้าง
การรักษาเฉพาะ เช่น
- ใส่เครื่องอัดอากาศ (CPAP) ขณะหลับทุกคืน
- การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุเพื่อลดขนาดของเพดานอ่อนและโคนลิ้น ไม่ให้ตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย
- การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่ เพดานอ่อนและผนังช่องคอรวมถึงการผ่าตัดต่อมทอนซิลที่โตออก
- ใช้ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) ใส่เวลานอน เพื่อช่วยลดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ในรายที่ไม่สามารถทนการใส่เครื่องอัดอากาศต่อเนื่องทุกคืนได้หรือไม่ต้องการใส่ทันตอุปกรณ์ในขณะนอนทุกคืน สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดแก้ไขในแบบที่เหมาะสมของตามอาการของแต่ละราย
การป้องกันโรคนอนกรน
ไม่ควรปล่อยให้อ้วนและควรออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อตึงกระชับและช่วยชะลอความหย่อนยานของกล้ามเนื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น งดดื่มสุรา งดใช้ยานอนหลับ
“โรคนอนกรนไม่ใช่ภาวะปกติที่ใครๆ ก็เป็นกัน คนที่มีภาวะนอนกรนควรได้รับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจในระยะยาว เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ มันอาจทำร้ายสุขภาพแบบคาดไม่ถึงได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดตามมาภายหลัง ทั้งนี้โรคนอนกรนสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาเพื่อทำให้เสียงกรนลดลงหรือหายไป พร้อมกับแก้ไขปัญหาเรื่องหยุดหายใจขณะหลับซึ่งมักแฝงตัวอยู่กับการกรน”
นพ. พลพร อภิวัฒนเสวี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา
ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 1